'ลักษณ์' ดัน 'ชลบุรี' เป็นฮับกระจายสินค้าเกษตรกว่าพันรายการ

22 ม.ค. 2562 | 11:22 น.
เกษตรฯ เอ็มโอยู ปตท. ดันโครงการ NGV Marketplace เพื่อขับเคลื่อนโครงการ "เกษตรอุ่นใจ" ในฐานะฮับกระจายและรวบรวมสินค้าเกษตรมาตรฐาน ในพื้นที่ จ.ชลบุรี นำร่อง พ่วงโครงการตรวจรับรองสินค้าเกษตรไปยังท่าอากาศยานเครือข่าย เผย มีสินค้ากว่าพันรายการให้ช็อปจุใจ



DSC_5559
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการลงนามความร่วมมือโครงการ NGV Marketplace แห่งแรก ณ สถานีบริการ NGV ปตท. แฮนด์ลิตา เอ็นจิเนียริ่ง (อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี) ตามยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่นำร่อง จ.ชลบุรี เพื่อขับเคลื่อนโครงการเกษตรอุ่นใจในฐานะศูนย์กลาง (Hub) กระจายและรวบรวมสินค้าเกษตรมาตรฐานในพื้นที่ จ.ชลบุรี ให้แก่เครือข่ายโรงอาหารปลอดภัยจากหน่วยงาน ทั้งสถานศึกษาและโรงงานในเขต อ.เมือง และ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ รวมทั้งประยุกต์โครงการของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มาใช้เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการบริโภคและจัดหาวัตถุดิบสินค้าเกษตรมาตรฐาน


egg-white-3048118_960_720

สำหรับรายการสินค้าคุณภาพมาตรฐานนำร่อง ได้มีการพิจารณารายการผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่โดดเด่นรายจังหวัด ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รวบรวมเกษตรกรและผู้ประกอบการที่พร้อมผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐาน จำนวน 1,150 ราย โดยมีจำนวนผู้ผลิตสินค้า ทั้งในลักษณะวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร จนถึงเกษตรกรรายย่อยที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานตามแผนการจัดตั้ง NGV Marketplace ประกอบด้วย ผู้ผลิตข้าว 300 ราย ผู้ผลิตไข่ 5 ราย ผู้ผลิตผัก 60 ราย ผู้ผลิตปลา 55 ราย ผู้ผลิตไก่ 10 ราย ผู้ผลิตเห็ด 20 ราย และผู้ผลิตสินค้าอื่น ๆ 700 ราย พร้อมทั้งยังมีสินค้าที่รวบรวมจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐานในระบบ DGT Farm จำนวน 550 ราย โดยเมื่อแยกประเภทสินค้าเกษตรมาตรฐานแล้ว ประกอบด้วย ผู้ผลิตข้าว 49 ราย ผู้ผลิตไข่ 1 ราย ผู้ผลิตผัก 13 ราย ละผู้ผลิตสินค้าอื่น ๆ 487 ราย


fruit-free-2198378_1920

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการจัดทำโครงการตรวจรับรองสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก (Certify Hub) ตามยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินการที่สำคัญ เพื่อรองรับการกระจายสินค้าไปยังท่าอากาศยานเครือข่าย โดยเฉพาะในประเทศที่มีมาตรฐานสุขอนามัยสูง โดย AOT ได้จัดทำความตกลงความร่วมมือกับเครือข่ายท่าอากาศยานต่างชาติ


airport-384562_1920

เช่น ท่าอากาศยานลีแอช (Liege) ให้เครือข่ายท่าอากาศยานของ AOT จำนวน 6 แห่งในประเทศไทย สามารถพัฒนาการปฏิบัติเพื่อจัดทำ Certify Hub ตามมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหารระดับสากล เพื่อลดปัญหาสินค้าเกษตรถูกตีกลับที่ปลายทาง ทำให้อำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการ ทั้งของไทยและคู่ค้าต่างประเทศ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายและปัญหาความน่าเชื่อถือสินค้าปลายทางระยะยาว

บาร์ไลน์ฐาน