แบงก์พาณิชย์โกยกำไรปี 61 แตะ 2 แสนล้านบาท

22 ม.ค. 2562 | 11:37 น.
ธนาคารพาณิชย์แจ้งผลประกอบการปี 2561 รวมทั้งสิ้น 2.09 แสนล้านบาท ไม่หวั่นค่าฟีธุรกรรมช่องทางดิจิทัลหด รับปัจจัยบวกจากสินเชื่อขยายตัว ด้านเอ็นพีแอลสะสม 4.2 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มทั้ง 11 แห่ง ได้แจ้งผลการดำเนินงาน ปี 2561 ครบเรียบร้อยแล้ว พบว่า มีกำไรสุทธิ ปี 61 รวม 209,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,917 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 อยู่ที่ 193,169 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้จะได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง แต่ยังได้รับปัจจัยบวกของการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิยังเติบโต และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ขณะที่ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สะสม อยู่ที่ 426,835 ล้านบาท

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ของปี 2561 ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) อยู่ที่ 40,068 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) อยู่ที่ 38,459 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) อยู่ที่ 35,330 ล้านบาท, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) อยู่ที่ 28,491 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) อยู่ที่ 24,800 ล้านบาท ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ที่มีเอ็นพีแอลสะสม สูงสุด 5 อันดับแรก ปี 2561 ได้แก่ KTB อยู่ที่ 102,367 ล้านบาท, BBL อยู่ที่ 79,279 ล้านบาท, KBANK อยู่ที่ 72,346 ล้านบาท, SCB อยู่ที่ 69,383 ล้านบาท และ BAY อยู่ที่ 32,284 ล้านบาท Screen Shot 2562-01-22 at 17.53.01

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในไตรมาส 4 ปี 2561 KBANK มีกำไรสุทธิเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ต่ำกว่าที่บล.ไทยพาณิชย์คาด มาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่ำกว่ากว่าที่คาด โดยลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น ทั้งนี้ กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากการตั้งสำรองลดลง 22% และรายได้จากดอกเบี้ยเติบโต 5% โดยคงนำแนะนำ “Neutral” และปรับราคาเป้าหมายลดลงจาก 204 บาท สู่ 196 บาท

ด้าน BAY มีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามที่คาด ได้รับปัจจัยกระตุ้นจากสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยทรงตัว และการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินเชื่อขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากสินเชื่อทุกประเภท แต่ขยายตัวเพียง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชำระคืนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ การจัดประเภทสินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัท เงินติดล้อ ใหม่มาเป็นสินทรัพย์และหนี้สินที่ถือไว้เผื่อขาย ทั้งนี้ ปรับคําแนะนําจาก “Neutral” ขึ้นสู่ “ซื้อ” และคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 43 บาท

ขณะที่ TCAP กำไรสุทธิไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงกว่าประมาณการที่ 11% จากการตั้งสำรองตำกว่าคาด โดยในปี 2561 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 12% รับปัจจัยจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 5% และการตั้งสำรองลดลง 23% ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อจะฟื้นตัวต่อเนื่องจาก 6% ในปี 2561 สู่ 7% ในปี 2562 รับปัจจัยกระตุ้นสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งยังคงแนะนำ “ซื้อ” และคงราคาเป้าหมายที่ 61 บาท จากส่วนบางตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่สูงที่สุด ทำให้ TCAP ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่แข็งแกร่ง 090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503