คาดเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ หลังความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

14 มี.ค. 2559 | 05:46 น.
ประชุมเฟด 15-16 มี.ค. 2559...คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ หลังความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) รอบที่สองปี 2559 ในวันที่ 15-16 มีนาคม 2559 นั้น คาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ต่อเนื่องอีกระยะ เพื่อรอประเมินภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น หลังปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากการประชุมครั้งก่อนหน้า โดยการที่เฟดเริ่มกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจังหวะนี้ อาจเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์การฟื้นตัวเลวร้ายลงได้

เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง ขณะที่ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น โดยมีเหตุสนับสนุนหลักดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิตอย่างเช่นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (ISM Manufacturing) ที่ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 เดือน เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ให้ภาพที่ซึมลงเช่นกัน ขณะที่แนวโน้มเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้น ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ฯ (USD Trade-Weighted Index) ก็อาจกระทบต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปด้วย

ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินยังเรื้อรังและทำให้มาตรวัดภาคการผลิตและบริการของจีนยังถดถอยลงต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาหนี้ของภาคเอกชนและทางการจีนที่อยู่ในระดับสูง จนนำมาสู่ปัญหาความเชื่อมั่น และระดับทุนสำรองฯที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือจาก ‘มีเสถียรภาพ’ ไปสู่ ‘เชิงลบ’ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการลงประชามติเพื่อตัดสินว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Brexit” ซึ่งเป็นปัจจัยที่เฟดคงจับตาใกล้ชิด เพราะจะเพิ่มความซับซ้อนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้นอีก

การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของธนาคารกลางขนาดใหญ่ จะยิ่งทำให้เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่า และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของเอกชนสหรัฐฯ ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ ถูกส่งผ่านไปยังตลาดการเงินและตลาดทุนโลก โดยในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นรอบที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และล่าสุดธนาคารกลางยุโรปได้ขยายขนาดการซื้อสินทรัพย์จากระดับ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน เป็นระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือนและปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้น โดยแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีภูมิต้านทานต่อปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่หากเฟดเลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาจจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่ามากขึ้นโดยเปรียบเทียบ อันอาจจะสร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนที่จะปรับลดลง

จุดสนใจในการประชุมเฟดครั้งนี้ คงอยู่ที่การเปิดเผยมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า และมุมมองที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ทั้งนี้ ภายใต้ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสที่เฟดอาจปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งมุมมองต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมลง จากระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ในรอบการประชุมเดือนธันวาคม 2558 อันเป็นนัยที่บ่งชี้ถึงโอกาสที่เฟดจะเลื่อนจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย หากเฟดเลื่อนจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป โดยหากปรากฏสถานการณ์ข้างต้นที่ตลาดรับรู้ถึงทิศทางดังกล่าวจริง ก็อาจส่งผลให้มีกระแสเงินทุนบางส่วนไหลเข้ามายังตลาดประเทศเกิดใหม่เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงไทยที่มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าประเทศแกนหลัก อันจะสนับสนุนทิศทางเงินบาทแข็งค่าอยู่ในระยะใกล้นี้ ขณะที่ คาดว่า ธปท.จะจับตาสถานการณ์ตลาดการเงินโลกดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่าจะนำมาสู่การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเปรียบเทียบและกระทบต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นอีก  ทั้งนี้ แม้ว่ากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะนี้ ยังต้องอาศัยนโยบายการคลังเป็นกลจักรสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากปัจจัยภายนอกทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด (ซึ่งอาจสะท้อนผ่านการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของ ธปท.ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559) ผนวกกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และแนวโน้มค่าเงินบาทที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันของสินค้าออกไทยในระยะต่อไปแล้ว ก็อาจทำให้ต้องพิจารณาทางออกจากฝั่งนโยบายการเงินในระยะถัดไปด้วยเช่นกัน

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย