โอเวอร์ซัพพลาย! อสังหาฯ วิ่ง-สู้-ฟัด ฝ่าด่านอรหันต์

25 ม.ค. 2562 | 03:24 น.
คงต้องยอมรับว่า คอนโดมิเนียมในหลายทำเลเกิดโอเวอร์ซัพพลาย ยิ่งรัฐบาลขยายเส้นทางเพิ่ม การจับจองทำเลขึ้นโครงการก็มากเป็นเงาตามตัว

สำหรับปัจจัยที่มีการพัฒนาคอนโดมิเนียมกันมาก เป็นเพราะ 1.ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน 2.ราคาที่ดินแพง 3.จีนสนใจ จึงเป็นชนวนการสร้างโครงการรองรับคนต่างชาติที่เป็นจีนมากขึ้น เนื่องจากมีกำลังซื้อที่ดีกว่าหากเทียบกับคนไทย เห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน การก่อสร้างเริ่มทยอยเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดกับกรมที่ดิน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์ส ประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2561 มีโครงการคอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดกับกรมที่ดินกว่า 112 โครงการ หรือ จำนวน 55,325 หน่วย โดยมีจำนวนหน่วยสูงกว่าปี 2560 60% หรือกว่า 20,000 หน่วย ทั้งนี้ ทำให้ในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนหน่วยที่ต้องการขาย (อุปสงค์) มากถึงเกือบ 600,000 หน่วย กว่า 200,000 หน่วย อยู่ในเขตกรุงเทพฯชั้นใน สูงสุดทำเลรัชดาฯ-พหลโยธิน มีปริมาณคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นสะสมกว่า 80,000 หน่วย

ทั้งนี้ เมื่อประมาณกลางปี 2561 จีนเริ่มมีปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา ฉุดเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งยังเจอกฎเหล็กห้ามนำเงินออกนอกประเทศปีละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.5 ล้านบาท ทำให้นักวิเคราะห์มีการประเมินสถานการณ์ว่า แนวโน้มในปีนี้อาจสุ่มเสี่ยงที่จีนจะไม่โอนคอนโดมิเนียม ทำให้ผู้ประกอบการไทยต่างปรับตัวและยอมรับว่า จีนอาจจะซื้ออสังหาฯไทยลดลง แต่มีการวิเคราะห์ต่อว่า ในช่วงกลางปี 2562 นี้ จีนอาจจะกลับมา หลังจากใช้เวลาปรับตัวครบ 1 ปี เพราะมีเศรษฐีจีนที่มีกำลังซื้อดี อย่าง 'ฮ่องกง' ยังมองอสังหาฯไทยเป็นโอกาส


MP27-3438-A

➣ เชื่อจีนจะกลับมา

โดย นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF ยํ้าว่า จีนมีการปรับตัวมาระยะหนึ่งและจะหวนกลับมาซื้ออสังหาฯไทยอีกครั้งในกลางปีนี้ แต่จะไม่มากเหมือนเช่นที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าบริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่ระบุว่า แม้จะผลิตโครงการรองรับจีนลดลง แต่ยังเฟ้นเศรษฐีจีน ฮ่องกง ที่มีกำลังซื้อ แต่ถึงกระนั้นผู้ประกอบการต่างปรับตัว โดยเฉพาะปัจจัยภายในที่เป็นจุดสกัดกำลังซื้อคนไทย คือ มาตรการคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อลดลง หรือไม่ก็ทรงตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งวิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะ 1.กำลังซื้อหด 2.ลดความสุ่มเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เพิ่ม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไตรมาสแรกของปีนี้ เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเศษ ผู้ประกอบการคงไม่สาละวนเกี่ยวกับอะไรนอกจากเร่งระบายสต๊อก หนีกฎ "โหดหิน" แบงก์ชาติที่จะมาถึง!!!




090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503

➣ พับคอนโดมุ่งบ้านสั่งสร้าง

ไตรมาสแรกทุกค่ายต่างเน้นระบายสต๊อกโครงการพร้อมอยู่และมีแคมเปญต่าง ๆ จูงใจก่อนมาตรการแบงก์ชาติจะบังคับใช้ ไปพร้อม ๆ กับการปรับตัวของดีเวลอปเปอร์ ที่ระดับบิ๊กแถวหน้าต่างออกมาเตือนว่า จะเป็นปีอสังหาฯ ฝ่าพายุ บ้างก็ว่าอาจจะยํ่ารอยวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ทั้งนี้ การคาดการณ์จะรุนแรงแค่ไหน ดูจากยักษ์ใหญ่ 'แลนด์แอนด์เฮ้าส์' ลดเปิดตัวโครงการ พร้อมแตะเบรกคอนโดมิเนียม เช่นเดียวกับ "พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค" ชะลอโครงการไตรมาสแรก ยกเลิกเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ ๆ มุ่งเน้นบ้านแนวราบ พุ่งเป้าไปที่บ้านสั่งสร้าง เพิ่มทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการผ่อนดาวน์ จองแปลงที่ดิน พร้อมเมื่อไหร่จึงลงมือสร้าง เพราะขืนสร้างบ้านพร้อมอยู่ วังวนเดิมจะกลับมา หากยังเป็นแปลงที่ดิน ก็ไม่มีต้นทุน เช่นเดียวกับ ค่ายเสนา, พฤกษา ฯลฯ แม้จะมีคอนโดมิเนียม แต่หลัก ๆ มุ่งพัฒนาแนวราบ รวมทั้งค่ายศุภาลัยที่ประกาศเปิด 34 โครงการ แม้จะใกล้เคียงปีที่ผ่านมา แต่เขามั่นใจว่า มีลูกค้าในมือ

| รายงาน : โต๊ะข่าวอสังหาฯ

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,438 วันที่ 24 - 26 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859