Facebook เข้ม! มาตรการจัดการข่าวปลอม ก่อนการเลือกตั้ง

22 ม.ค. 2562 | 10:47 น.
จากกระแสของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ผนวกกับโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ส่งผลให้พรรคการเมืองและผู้ลงสมัครเลือกตั้งต่างผันตัวมาใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงกันอย่างคึกคัก ล่าสุด เคธี ฮาร์บาธ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองระดับโลกและการประสานงานภาครัฐของ Facebook ได้เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายในการทำงานของ Facebook คือ ต้องการให้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มีความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จึงได้มีการกำหนดมาตรการในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและการรักษาความปลอดภัย เพื่อต่อสู่กับข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมในโลกออนไลน์ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

Katie


ลดการเผยแพร่ Fake News

Facebook ได้มีการนำเทคโนโลยีอย่าง AI และ Machine Learning เข้ามาใช้ร่วมกับการตรวจสอบด้วยมนุษย์ เพื่อแยกแยะข้อมูลข่าวสารปลอม (Fake News) ในประเทศไทย รวมถึงสร้างการรับรู้และเพิ่มความรู้เกี่ยวกับวิธีการสังเกตข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงให้กับผู้ใช้งาน อีกทั้งยังได้มีการเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการเลือกตั้งสำหรับสื่อมวลชน เพื่อแบ่งปันวิธีปฏิบัติและกรณีศึกษาเกี่ยวกับข่าวการเลือกตั้งและข้อมูลสำคัญ

"ตัวอย่างวิธีการจัดการกับการเผยแพร่ข่าวปลอมในสหรัฐอเมริกา นอกจากใช้การคัดกรองด้วยเอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่งแล้ว ยังมีการใช้คนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งและจำกัดการเข้าถึงข่าวปลอมเหล่านั้น ทั้งนี้ หากมีผู้ที่ต้องการอ่านหรือแชร์ ก็จะมีการบอกแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้รับทราบ รวมถึงมีการเตือนแนวโน้มที่อาจจะเป็นข่าวปลอม"


เร่งลบบัญชีปลอม

ขณะที่ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 Facebook ได้มีการปิดบัญชีปลอมไปจำนวนทั้งสิ้น 754 ล้านบัญชี ซึ่งบัญชีส่วนใหญ่มาจากการโจมตีแบบสแปมเพื่อแสวงหาผลกำไร รวมถึงมีการบล็อกบัญชีปลอมตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มลงทะเบียนอีกหลายล้านบัญชี และพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อให้มีการตอบสนองต่อการตรวจจับและลบสแปม การระบุ-กำจัดบัญชีปลอม และการป้องกันบัญชีจากการถูกละเมิดด้านความปลอดภัย เบื้องต้น ในการสังเกตว่า ผู้ใช้งาน Facebook เป็นบัญชีปลอมหรือไม่ คือ เมื่อมีการสมัครในช่วงแรก ๆ จะมีการเข้ากลุ่มต่าง ๆ หรือเพิ่มเพื่อนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว


เพิ่มความโปร่งใสบนโฆษณาเพจ

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส่ในการโฆษณาบนแฟนเพจต่าง ๆ ผู้ใช้งาน Facebook สามารถตรวจสอบโฆษณาบนเพจต่าง ๆ ทั้งใน Facebook, Instagram, Messenger และเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงมีการแสดงรายละเอียดวันที่ก่อตั้งแฟนเพจหรือประวัติการเปลี่ยนแปลงชื่อที่ผ่านมา เช่นกรณีเพจที่เปิดมานานแล้วและมีการสะสมยอดไลค์ จากนั้นก็มีการเปลี่ยนชื่อ ซึ่งทาง Facebook ก็แจ้งให้ผู้ใช้ทราบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการคัดกรองเนื้อหาที่แสดงบนหน้าฟีดจากการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งาน อาทิ ข้อมูลต่าง ๆ จากเพื่อน เพจหรือกลุ่ม ที่เจ้าของบัญชีมีปฏิสัมพันธ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ที่ผ่านมา Facebook ได้เพิ่มจำนวนทีมงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโฆษณา จาก 20,000 เป็น 30,000 คน อีกทั้งยังลงทุนกับระบบตรวจจับข้อมูล (Machine Learning) เพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่า ควรตรวจสอบและลบโฆษณาเมื่อใด นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมายังได้มีการประกาศไม่อนุญาตให้เพจต่าง ๆ นำเสนอข่าวปลอมซ้ำ ๆ เพื่อการโฆษณาบน Facebook


Katie Harbath Facebook



ส่งเสริมการเลือกตั้ง

มุ่งเน้นสร้างการรับรู้เรื่องการเลือกตั้งให้ประชาชนรู้ ว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ผู้สมัครเป็นใครบ้าง เพื่อเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเครื่องมือหรือโซลูชันที่ใช้ในการเลือกตั้งก็มีความแตกต่างกันไป โดย Facebook ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือให้สอดรับกับแต่ละประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมี Third Party เข้ามาเพื่อร่วมในการดำเนินงาน โดยในประเทศไทยนั้นอยู่ระหว่างการหาผู้ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นองค์กรอิสระ


บาร์ไลน์ฐาน

นอกจากนี้ Facebook พยายามที่จะเปิดเผยข้อมูลให้มีความโปร่งใส ระบุ ผู้ลงโฆษณา รายละเอียดเชิงลึก โดยพยายามศึกษาเรื่องของสภาพแวดล้อมทางการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่ลงโฆษณาต้องทำตามกฎหมายในประเทศนั้น เพราะกฎหมายในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่หากเป็นข้อมูลที่เป็นออร์แกนิค (ไม่ได้ซื้อโฆษณา) ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎของการลงโฆษณา โดยเน้นในเรื่องของการสร้างความโปร่งใสของนักการเมืองและพรรคการเมืองในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพื่อให้สื่อและประชาชนเข้าถึง ทั้งนี้ สำหรับในไทยเมื่อ Facebook ทราบวันเลือกตั้งอย่างแน่นอนแล้ว จะมีการปรับปรุงโซลูชันเพื่อรองรับการใช้งานอีกครั้ง

595959859