"ทำลายขยะ" แบบสร้างสรรค์ ไม่สร้างมลพิษ

25 ม.ค. 2562 | 09:00 น.
การทำลายของกลาง คดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นกระบวนการที่กรมศุลกากรทำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกระบวนการเหล่านั้น แน่นอนย่อมก่อให้เกิดมลพิษกลับเข้าสู่บรรยากกาศได้ ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ร่วมมือก้บ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด กำจัดสินค้าละเมิดแบบสร้างสรรค์และไม่สร้างมลพิษ

ส่วนหนึ่งของของกลางที่นำไปทำลาย
ที่ผ่านมา มีการทำลายหลากหลายวิธี ทั้งวิธีเผาทำลาย ทั้งการเผาด้วยเตาเผาขยะ และเผาทำลายกลางแจ้ง กรมศุลกากรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านปัญหามลพิษในอากาศ ที่เกิดจากการเผาไหม้ การกระจายของฝุ่นละออง จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงฯ ซึ่งให้บริการจัดการกากของเสียด้วยขั้นตอนการกำจัดที่ถูกวิธี

บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด เข้ามาร่วมกำจัดครั้งนี้ เนื่องด้วยกรมศุลกากรมีของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว และสินค้าอื่น ๆ ที่รอการทำลายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายเก็บรักษาและจำหน่ายของกลางที่ 2 ส่วนของกลาง สำนักสืบสวนและปราบปราม จึงได้ประสานกับบริษัทเอกชนที่รับทำลายของกลางเหล่านั้น

"ปกครอง มีจินดา" Head of Commercial บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บอกว่า อินทรี อีโคไซเคิล มีความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการการจัดการกากของเสียครบวงจร มีการนำของเสียจากวงจรการผลิตหนึ่งกลับมาใช้ผลิตและแปรสภาพให้กลายเป็นเชื้อเพลิงสำหรับอีกกระบวนการผลิตหนึ่ง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการทำลายสินค้าละเมิดเหล่านี้ยังให้ความสำคัญกับขั้นตอนการติดตามผล และระบบรักษาความปลอดภัย


002 ผู้บริหารอินทรี อีโคไซเคิล

ขั้นตอนการทำลาย หรือ การเปลี่ยนของกลางสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เริ่มจากการที่ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิลฯ นำของกลางขนส่งผ่านรถขนส่ง ซึ่งมีระบบ GPS ติดตามตลอดเวลา

ของกลางเหล่านั้นจะผ่านกระบวนการคัดแยกประเภทตัด บด ย่อย และควบคุมคุณภาพ ก่อนที่โรงเตรียมเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทน (AFR Platform) จ.สระบุรี จากนั้นจะนำไปเผาร่วมกับเชื้อเพลิงหลักที่เตาเผาปูนซีเมนต์ โดยของกลางสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จะถูกเผาด้วยอุณภูมิสูงกว่า 1,800 องศาเซลเซียส ในระบบปิด จึงไม่มีการปล่อยสารก่อมะเร็ง เช่น ไดออกซิน และเถ้าลอยออกสู่อากาศ ซึ่งเป็นวิธีการจัดการของเสีย หรือ กากอุตสาหกรรม ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นการลดของเสีย หรือ กากอุตสาหกรรม สู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) อีกด้วย

กระบวนการทุกขั้นตอนในโรงงานจะมีกล้องวงจรปิดระบบ RFID ในการติดตามรถขนส่งภายในโรงงาน และหน่วยงานรักษาความปลอดภัย เพื่อควบคุมในระดับสูงสุด โดยมีกำหนดระยะเวลาทำลายในกรอบเวลาไม่เกิน 15 วัน และทำลายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. นี้

การทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและของกลางอื่น ๆ ที่คดีถึงที่สุดแล้ว อาทิ เสื้อผ้า ผ้าห่ม ตุ๊กตา รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น รวมนํ้าหนัก 300 ตัน หรือคิดเป็น 3 แสนกิโลกรัม อินทรี อีโคไซเคิล ได้ประสานงานกับฝ่ายเก็บรักษาและจำหน่ายของกลาง สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร รับผิดชอบในการทำลายของกลาง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

หน้า 22-23 ฉบับที่ 3,438 วันที่ 24 - 26 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859