"SME D Bank" ปั้นดาวรุ่ง "Startup ยางพาราไทย" ยอดขายพุ่ง 43 ล้านบาท

22 ม.ค. 2562 | 06:37 น.
ธพว. เปิดผลงานโครงการ 'SME-D Scaleup Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม' สร้างเครือข่าย Startup ยางพาราทั่วประเทศ ทำยอดขายพุ่งทะลุมากกว่า 43 ล้านบาท และเกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง พร้อมเติบโต 12 ผลิตภัณฑ์

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SMD D Bank กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการ 'SME-D Scaleup Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม' ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ได้แก่ 1.สินค้าที่ผลิตจากโครงการสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น, 2.ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม, 3.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา


thumbnail_05

4.ยกระดับมาตรฐานให้สินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ, 5.เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และ 6.เกิดเครือข่ายแปรรูปยางพาราจากทั่วประเทศ นำสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก ดันรายได้ปรับขึ้นทันที โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มยอดขายมากกว่า 43.75 ล้านบาท และลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 120,000 บาท และเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา 7 ราย และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 5 ราย นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวผู้ประกอบการที่เข้าอบรม 51 ราย จากเดิมมีการใช้ยางพารารวมกันประมาณ 6.454 ล้านกิโลกรัม ยังสามารถต่อยอดการใช้ยางพาราเพียงแค่ระยะเวลา 6 เดือน เพิ่มขึ้น 0.322 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพาราต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนั้น เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้ประกอบการหน้าใหม่ (Startup) กลุ่มยางพาราไทยที่แข็งแกร่ง นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพาราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยโครงการ 'SME-D Scale up Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม' แม้จะเกิดขึ้นเพียงไม่ถึงปี (พ.ค. - ธ.ค. 2561) แต่สามารถสร้างสินค้าจากนวัตกรรมยางพาราไทยได้ถึง 12 ผลิตภัณฑ์ จากในอดีตที่ค่าเฉลี่ยการเกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนั้นสูงสุดไม่เกิน 5 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น และเป็นผลงานบนหิ้งเชิงวิชาการ แสดงให้เห็นว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จทั้งในการสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่และเชิงพาณิชย์ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ


thumbnail_02

สำหรับตัวอย่าง Startup จากโครงการที่ประสบความสำเร็จ เช่น หจก.หาดใหญ่รับเบอร์เทค ผู้ผลิตพรมละหมาดจากยางพารา เพิ่มอัตลักษณ์ผ้าทอมือชาวเกาะยอ สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จากเดิมครอบครัวเคยประกอบธุรกิจรับซื้อน้ำยางสด แต่เมื่อราคายางตกต่ำกระทบธุรกิจอย่างรุนแรง และเมื่อเข้าร่วมโครงการนี้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมพรมละหมาดเติบโตแบบสตาร์ทอัพก้าวกระโดดภายในระยะไม่ถึง 1 ปี สร้างรายได้ยอดขายเพิ่มขึ้น 1,000% คิดเป็นวงเงินกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจหมอนยางพาราหลายกิจการ ผลิตภัณฑ์จอกยางพารา และผลิตภัณฑ์แปรรูยางพาราอื่น ๆ ยอดขายเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 100 % เป็นต้น


thumbnail_03

นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ประกอบการยางพาราและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จ โครงการนี้ยังเพิ่มช่องทางการทำตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ รวมถึงทีมอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจาก มอ. ให้คำปรึกษา พาจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนการนำเครื่องจักรมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยลดอัตราการเสียหายระหว่างการผลิต 1-5%

"ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธพว. ไปแล้ว 12 ราย วงเงินเกือบ 20 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น เช่น แผ่นรองเท้าแบบเต็มฝ่าเท้า, น้ำยางครีมมิ่ง, หมอนยางผสมชาร์โคล, หมอนที่เติมสารให้ประจุลบ, เสื่อโยคะ, บรายางพาราแท้ 100% สำหรับสตรี, ยางลอกลาย 3 มิติ, ถุงเพาะชำย่อยสลายและกักเก็บความชื้น, พับแต่งหน้าจากยางพารา, ยางออกกำลังนิ้ว, รองเท้าบูทยางพารา น้ำหนักเบา เกาะยึดได้ดี และแผ่นรองเท้าแบบยางเคลือบผ้ากระสอบ เป็นต้น ซึ่งสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา นำรายได้สู่ประเทศต่อไป"

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างธนาคารและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการยางพาราไทยด้วยนวัตกรรม เสริมองค์ความรู้และเน้นทำการตลาดออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยางพาราไทยมาถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนอบรมด้านบัญชี ทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้า ช่องทางการตลาด และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

595959859