"กูรู" เปิด 3โจทย์ใหญ่ 5G เผยความถี่ 3.5-4.2GHz เหมาะสมกว่าคลื่น 700

25 ม.ค. 2562 | 04:46 น.
แจงคลื่น 5G ต้องใช้ย่านความถี่สูง คือ 3.5-4.2 GHz เหมาะสมที่สุด ชี้ต้องมีองค์ประกอบรวม 3 ส่วน คือ ความถี่สูง-อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ และ IoT ถึงจะสมบูรณ์แบบ

ออกตัวเป็นรายแรกสำหรับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ร่วมประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำลังดำเนินการเวนคืนคลื่นความถี่จากกลุ่มทีวีดิจิตอล เพื่อนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G โดยทรูอ้างเหตุผลว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องของการยืดระยะเวลาการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กลุ่มทรูจึงจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ในครั้งนี้ จนกว่าจะมีความชัดเจน อีกทั้งปริมาณคลื่นความถี่ตํ่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ทั้ง 850 MHz และ 900 MHz ยังเพียงพอที่จะนำมาจัดสรรให้บริการ 5G โดยจะลงทุนเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้งานและเป็นไปตามความพร้อมของตลาดอุปกรณ์ 5G

 

[caption id="attachment_377762" align="aligncenter" width="503"] รศ.ดร.พิภพ อุดร รศ.ดร.พิภพ อุดร[/caption]

รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คลื่นความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นความถี่ตํ่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางเป็นหลัก ซึ่งเหมาะกับ 4G ในขณะที่ 5G ซึ่งเน้นการรับ-ส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลในเวลาเศษเสี้ยววินาที ต้องการคลื่นความถี่ที่สูงมาก ๆ โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ย่านคลื่นความถี่เดิมของ 4G หรือ LTE ที่คลื่นความถี่อยู่ในย่าน 600 MHz ถึง 6 GHz และ 2.กลุ่มคลื่นใหม่ระดับมิลลิเมตร คือ ย่านความถี่ 24-86 GHz ทั้งนี้ ผู้ให้บริการ 5G ต้องการคลื่นความถี่สูงที่มีอำนาจทะลุทะลวงในอาคารและในย่านชุมชน ซึ่งอย่างน้อยก็ต้อง 3.5-4.2 GHz

อย่างไรก็ตาม ช่วงคลื่นความถี่ก็หาใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ 5G เกิดได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องมีอย่างน้อยถึง 3 องค์ประกอบ คือ 1.ช่วงคลื่นความถี่ที่สูงมาก ๆ ตั้งแต่ 3.5 GHz ไปจนถึง 26 GHz แปลว่า ต้องเป็นคลื่นความถี่ระดับสูง ไม่ใช่ระดับตํ่า อย่างในประเทศยุโรป คาดว่าจะใช้ในช่วงความถี่ 24.25- 27.50 GHz (หรือนิยมเรียกเหมา ๆ รวม ๆ ว่า ช่วง 26 GHz), 2.อุปกรณ์ส่งคลื่นสัญญาณมิลลิเมตร MIMO (Multiple Input Multiple Output) ที่ต้องติดตั้งเพิ่มขึ้นในจำนวนมาก แต่เพราะอุปกรณ์สามารถส่งสัญญาณครอบคลุมรัศมีระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องทำให้อุปกรณ์ใหม่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์เดิมที่สามารถให้บริการระยะไกลได้ด้วย ซึ่งก็ใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมมากและใช้เวลาไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หากจะทำจริง 5G ก็มีแนวโน้มว่าจะเริ่มต้นก่อนเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีจำนวนลูกค้าหนาแน่น เช่น AT&T ในสหรัฐอเมริกา ก็คาดว่าจะสามารถให้บริการ 5G ภายในสิ้นปี 2019 นี้ ได้เฉพาะใน 12 เมืองใหญ่เท่านั้น และ 3.มือถือของผู้บริโภคและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง ๆ ที่รองรับ 5G เพราะ 5G เป็นเรื่อง IoT ที่เน้นการเชื่อมโยง ไม่ใช่เฉพาะระหว่างคนกับคน หรือ โทรศัพท์มือถือกับข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างมือถือและอุปกรณ์ หรือ อุปกรณ์กับอุปกรณ์ ดังนั้น ต่อให้ 2 องค์ประกอบแรกพร้อม ก็ยังต้องรอองค์ประกอบที่ 3 ซึ่งก็แปลว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องออกสินค้าโมเดลใหม่ที่รองรับ 5G และบรรดาธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมทั้งผู้บริโภคทั้งหลาย ต้องพร้อมลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ให้มาเป็นอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะพอเห็นอยู่บ้างในบางอุตสาหกรรม แต่หากจะให้เกิดขึ้นในวงกว้างทั่วทั้งตลาดในหลากหลายอุตสาหกรรม ก็น่าจะพอคาดเดาได้ว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเท่าใด โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงทางการเมืองในเรื่องเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการบริโภคและการลงทุนในทุก ๆ อุตสาหกรรม


TP10-3438-B

"การเลือกไม่เข้าประมูลคลื่น 700 MHz จึงพอเข้าใจได้ว่า น่าจะเป็นเหตุผลในทางธุรกิจล้วน ๆ เนื่องจาก True น่าจะมีคลื่นความถี่ในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว แถมยังกำลังแบกรับค่าประมูลคลื่น 900 MHz ที่เพิ่งได้มาอีก จึงน่าจะไม่ต้องการเพิ่มภาระทางการเงินเพิ่มเติม ที่สำคัญ True น่าจะประเมินว่า 5G น่าจะยังใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยในระดับที่สามารถทำกำไรได้ และหากจะทดลองให้บริการ 5G ทาง True ก็มีคลื่นความถี่ระดับสูง 1800 MHz และ 2100 MHz อยู่ในมือที่พอจะนำมาใช้ได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงน่าจะยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ในรอบนี้"

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศการประมูลมีราคาสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น คลื่นวิทยุที่นำมาใช้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ ทีวีดิจิตอล และเข้าใจกันว่า ค่าประมูลที่สูงเช่นนี้สร้างรายได้ที่ดีให้รัฐ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ถ้าผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่าประมูลในมูลค่าสูง สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ การส่งผ่านต้นทุนที่ต้องจ่ายให้รัฐมาบวกไว้ในค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค แปลว่า ยิ่งจ่ายค่าประมูลให้รัฐแพงเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายค่าบริการแพงมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน

"ระบบประมูลแบบราคาสูงมโหฬารจนน่าตื่นตาตื่นใจไม่ได้สร้างประโยชน์มากมายให้รัฐ หรือ ให้กับผู้บริโภคอย่างที่เราเข้าใจว่าจะเป็น ดังนั้น เรื่องนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอก ว่า กสทช. มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องขบคิดว่าจะปรับเปลี่ยนโมเดลในการประมูลคลื่นความถี่เป็นเช่นไร โมเดลเสือนอนกินสบาย ๆ แบบสมัยก่อนไม่น่าจะเวิร์กอีกต่อไป"

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3438 ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว