ตื่นจัดระเบียบ! ดันราคา "ไก่เนื้อ" พ้นต่ำสุด 30 ปี

21 ม.ค. 2562 | 10:39 น.
210162-1726

กรมปศุสัตว์เตรียมจัดระเบียบไก่เนื้อ กำหนดโควตานำเข้าปู่ย่า-พ่อแม่พันธุ์ ป้องราคาตกต่ำระยะยาว หลังบริษัทใหญ่แข่งนำเข้าจนโอเวอร์ซัพพลายถึง 2 ล้านตัวต่อสัปดาห์

สถานการณ์ส่งออกเนื้อไก่ในปี 2562 ทางสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยคาดจะเติบโต 10% จากปีที่มูลค่าส่งออกคาดอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการขยายการผลิตในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน สวนทางกับราคาในประเทศที่มีแนวโน้มตกต่ำ สถานการณ์ดังกล่าวนี้เองทำให้กรมปศุสัตว์เตรียมผ่าตัดใหญ่ โดยจะมีการกำหนดโควตาการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ (จีพี) และพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อ (พีเอส) เลียนแบบโมเดลไก่ไข่ที่ทำแล้วก่อนหน้านี้ เป้าหมายเพื่อให้มีการผลิตที่สมดุลกับความต้องการของตลาด ป้องกันราคาไก่เนื้อในประเทศและในตลาดต่างประเทศของไทยไม่ให้ตกต่ำในระยะยาว


GP-3436_190121_0013

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีการควบคุมในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ไก่เนื้อในประเทศน่าเป็นห่วงจากผลผลิตเกินความต้องการ ขณะที่ บางบริษัทยังขยายการเลี้ยงไก่เนื้อไปเรื่อย ๆ เพื่อขายตลาดภายในอย่างเดียว โดยที่ไม่มีตลาดต่างประเทศรองรับ หากไม่มีการจัดโควตานำเข้าปู่ย่าพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ เกรงว่าในอนาคต หากราคาไก่ตกต่ำลงอีก ทางกรมจะถูกต่อว่าไม่มีมาตรการควบคุมเลย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดระเบียบไก่เนื้อ ซึ่งได้มอบหมาย นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะมิสเตอร์ไก่เนื้อ-ไข่ไก่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปวางแผนกรอบนโยบาย การจัดสรรโควตา รวมถึงระเบียบต่าง ๆ คาดจะมีประชุมกับผู้ประกอบการที่นำเข้าปู่ย่าพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ ประมาณต้นเดือน ก.พ. นี้

ด้าน นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ใน 2561 มีการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ ประมาณ 7.87 แสนตัว และพ่อแม่พันธุ์ ประมาณ 1.42 แสนตัว จากปี 2560 มีการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ 8.36 แสนตัว และพ่อแม่พันธุ์ 2.05 แสนตัว แนวโน้มนำเข้ามีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ควบคุมปริมาณเลย เกรงว่าในอนาคตจะมีปัญหา

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ให้ข้อเสนอแนะว่า การควบคุมหรือกำหนดโควตานำเข้า กรมปศุสัตว์ควรที่จะพิจารณาตามแผนงานของบริษัทผลิตส่งออก หากมีคำสั่งซื้อมากก็ต้องผลิตมาก ซึ่งปกติผู้ส่งออกจะทราบคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ล่วงหน้า 3-6 เดือน ว่า จะต้องผลิตส่งออกเท่าไร ซึ่งการจัดระเบียบจะต่างและยากกว่า "ไก่ไข่" ที่เน้นผลิตเพื่อตลาดในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น กรมต้องเรียกประชุมชี้แจงว่า การกำหนดโควตาจะออกมาในรูปแบบใด

 

[caption id="attachment_377362" align="aligncenter" width="500"] ตื่นจัดระเบียบ! ดันราคา "ไก่เนื้อ" พ้นต่ำสุด 30 ปี เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะที่ นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ผลิตส่งออกสินค้าไก่ และในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากกระแสข่าวจีนจะอนุญาตให้ไทยส่งออกเนื้อไก่ได้เพิ่ม ทำให้ผู้ผลิตมีการขยายการเลี้ยงเพิ่ม แต่พอส่งจริงได้ไม่กี่โรง ส่งผลทำให้เกษตรกรในช่วงปี 2561 ถึงปัจจุบัน ขาดทุนมาก ปีนี้หลายรายต้องปรับลดการเลี้ยงลงมา กรณีหากกรมจัดระเบียบไก่เนื้อ ด้านหนึ่งมองว่าเป็นผลดี แต่อีกด้านเกรงผู้นำเข้าจะฉวยโอกาสขึ้นราคาพ่อแม่พันธุ์ รวมถึงลูกไก่

"การเลี้ยงไก่ของสมาชิกสมาคม ลูกไก่ส่วนใหญ่จะมาจากบริษัทครบวงจร อาทิ เครือซีพี เครือจีเอฟพีที กลุ่มแหลมทองสหการ ดังนั้น การจัดระเบียบกรมปศุสัตว์ไม่ยาก แค่พูดสั้น ๆ ว่า อย่านำเข้ามาเยอะ แค่นี้ก็จบแล้ว จากปี 2560-2561 อุตสาหกรรมไก่เนื้อถือว่าตกต่ำสุดรอบ 30 ปี จากโอเวอร์ซัพพลาย ตลาดส่งออกก็ถูกต่อลดราคา บริษัทผู้ผลิตส่งออกจะขาดทุนรวมกันในปีที่ผ่านมาหลายพันล้านบาท ขณะที่ ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เวลานี้เฉลี่ยที่ 20-32 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นกับแต่ละพื้นที่ จากปีที่ดี ๆ เคยขายได้สูงถึง 37-40 บาทต่อกิโลกรัม"


ไก่1

นายสมบูรณ์ วัชรพงศ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการจัดระเบียบไก่เนื้อ ปัจจุบัน เกษตรกรเลี้ยงแค่ 5% เท่านั้น ที่เหลือเลี้ยงโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ สถานการณ์ไก่เนื้อเวลานี้เกินความต้องการของตลาดอยู่ประมาณ 2 ล้านตัวต่อสัปดาห์ อยากให้กรมปศุสัตว์เร่งจัดระเบียบด่วน เพื่อเกษตรกรจะได้ทราบข้อมูลและวางแผนอนาคตได้

สอดคล้องกับ นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ที่กล่าวว่า การกำหนดโควตาจะเกิดผลดีจากปัจจุบัน แต่ละบริษัทขอนำเข้าโดยไม่จำกัดปริมาณ หากมีการจัดสรรโควตาจะทำให้สถานการณ์ราคาในประเทศกระเตื้องขึ้น จากเวลานี้เกษตรกรขายไก่ได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,436 วันที่ 17 - 19 ม.ค. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ปาล์ม-เงาะ-ไก่เนื้อ" ราคาวูบ! รายได้เกษตรกร ก.ย. รูด 4%
เศรษฐกิจ-ดีมานด์โลกโต ส่งออกข้าว-ยาง-ไก่เนื้อปี 61 รุ่ง


เพิ่มเพื่อน
595959859