"นักวิชาการ" หนุนเลือกตั้ง 24 มี.ค. ชี้! ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมตัว

21 ม.ค. 2562 | 09:17 น.
"นักวิชาการ" หนุนเลือกตั้ง 24 มี.ค. ชี้! ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมตัว เตือนต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หากหลุดจากกรอบ 9 พ.ค. นี้ จะเกิดหลุมดำทางการเมือง


อ.สิริพรรณ_๑๘๐๖๒๒_0003
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาในหัวข้อ "เลือกตั้ง 62 ? : ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง" โดยมี น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ จากสถาบันพระปกเกล้า และนายประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมเสวนา

น.ส.สิริพรรณ กล่าวว่า หากถามว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า มี 2 แนวทางที่จะเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ "มี" กับ "ไม่มี" ซึ่งหากมีการเลือกตั้ง วันที่ดีที่สุด คือ 24 มี.ค. โดยที่นักการเมืองก็น่าจะพอใจ เพราะจะได้มีระยะเวลาที่เตรียมตัวมากขึ้น ซึ่ง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ต้องประกาศไม่เกิน 7 ก.พ. นี้ เพราะจะสอดคล้องกับระยะเวลาในการเตรียมตัวของฝ่ายการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเราจะต้องรอลุ้นว่า พ.ร.ฎ. จะประกาศเมื่อไหร่ แต่ดีที่สุดต้องไม่เกินสัปดาห์หน้า

ส่วนเมื่อถามว่า จะมีโอกาสเลื่อนออกไปเกินกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนั้น ตนเชื่อว่า อภินิหารทางการเมืองทำได้ อภินิหารแรก คือ การใช้มาตรา 44 ซึ่งในทางกฎหมายสามารถทำได้ แต่หากมองในทางนิติศาสตร์ มองว่า มาตรา 44 มีอำนาจน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เราต้องมามองการเลือกตั้ง โดยอภินิหารที่สอง คือ การแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญในเรื่องของกรอบระยะเวลา 150 วัน ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้ อีกทั้งใช้ระยะเวลาไม่นานเหมือนรัฐบาลปกติ ที่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่รัฐบาลชุดนี้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายและใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเชื่อว่า ปี 2562 ยังมีการเลือกตั้งอยู่

ด้าน นายประจักษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด คือ วันที่ 24 มี.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นไปตามภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องพึ่งอภินิหาร แต่หากภายในสัปดาห์นี้ยังไม่มีความชัดเจนในวันเลือกตั้ง ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ยิ่งหากเราเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหลุดจากกรอบ 9 พ.ค. นี้ ก็จะหลุดไปยาว จนเกิดเป็นหลุมดำทางการเมือง คือ ไม่มีไทม์เฟรม ไม่มีกฎเกณฑ์ และขอบเขตในการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน เพราะปัจจุบัน เเม้เราไม่ทราบวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ทุกอย่างก็ยังถกเถียงบนพื้นฐานของกรอบรัฐธรรมนูญ แต่หากในอนาคต เราเลื่อนจนเลยกรอบรัฐธรรมนูญ เท่ากับเราจะตกอยู่ในหลุมดำ ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ตามหลักประชาธิปไตย อีกทั้งหากใช้มาตรา 44 เลื่อน หรือ แก้ไขเลื่อนวันเลือกตั้ง จะสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า มาตรา 44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับสิ่งที่พรรคการเมืองเตรียมตัว หรือ สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจะได้ใช้สิทธิการเลือกตั้ง กลับเท่ากับศูนย์ แล้วเริ่มต้นใหม่ ซึ่งทุกอย่างกลับเท่ากับเสียเวลา เหมือนเป็นการเปิดแล้วปิดโอกาส อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะอยู่ในจุดเสี่ยง โดยที่จะปฏิเสธวาทะกรรมสืบทอดอำนาจไม่ได้ เพราะขณะนี้ หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลปกติแล้ว ก็ถือว่าว่าครบวาระ

นายประจักษ์ กล่าวต่อว่า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ การทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม สะท้อนเสียงของประชาชน โดยที่เสียงเหล่านั้นจะต้องไม่ถูกบิดเบือน ทั้งนี้ หากเสียงของประชาชนจะถูกบิดเบือนนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ บิดเบือนโดยใช้กำลัง กรณีนี้ คือ การใช้กำลังไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และอีกหนึ่งช่องทางการบิดเบือน คือ การใช้มาตราการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ความรุนแรง ซึ่งคล้ายกับระบบปัจจุบัน ที่ใช้วิธีการเปลี่ยนแบบบัตรเลือกตั้ง หรือ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการใช้กลไกของรัฐเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง หากมองดี ๆ จะถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว พรรคการเมืองเองก็จะเสียเปรียบ


สติธร-2

ด้าน นายสติธร กล่าวว่า อภินิหารทางการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบันมีเยอะ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญและร่างระบบการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ หากเรารอลุ้นว่า อภินิหารต่อไป คือ วันเลือกตั้ง ว่า จะมีการเลื่อนไปตกตรงกับวันไหน ซึ่งหากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมาระบุว่าเป็นวันที่ 24 มี.ค. นี้ หากนับตามไทม์ไลน์แล้ว วันที่ พ.ร.ฎ. ประกาศออกมาจะต้องเป็นสัปดาห์หน้า

595959859