โยกพอร์ตหุ้น! หนี "บาทแข็ง" เก็ง 'บอนด์'

11 ม.ค. 2562 | 10:04 น.
นักลงทุนสบช่องค่าเงินบาทแข็ง โยกพอร์ตหุ้น เก็งกำไรบอนด์กว่า 6 พันล้านบาท ด้านกูรูประสานเสียงปัจจัยพื้นฐานในประเทศแกร่ง ย้ำเงินบาทยังเป็น Safe Haven คาดไตรมาส 1 เคลื่อนไหว 31.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาดปี 2562 เพียง 4 วันทำการ 2-7 ม.ค. 2562 แข็งค่า 1.5% ที่ 31.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 แข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งตลาดเงินและตลาดทุนยังถูกกดดันด้วยปัจจัยภายนอกและในประเทศต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากตลาดตีความคำพูดของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งกล่าวว่า "เฟดจะใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย" ว่า เป็นการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ โดยที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 7 ม.ค. 2562 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 6,131 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดหุ้น 5,270 ล้านบาท

เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนซื้อพันธบัตรน้อยลงด้วย มูลค่าซื้อสุทธิ 134,708 ล้านบาท จาก 217,501 ล้านบาท ในปี 2560 และขายหุ้นสุทธิ 287,459 ล้านบาท จาก 25,755 ล้านบาท ในปี 2560 ส่วนการแข็งค่าของเงินบาท ยังสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคและค่าเงินสกุลหลัก เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งเรื่องจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มีความไม่แน่นอน แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก ประเด็นชัตดาวน์หน่วยงานราชการ และยังอยู่ระหว่างการเจรจาประเด็นทางกรค้ากับจีน คาดว่าไตรมาส 1 ปีนี้ ค่าเงินบาทน่าจะอยู่แถว ๆ 31.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าเป็นอันดับ 2 รองจากรูเปียห์ โดยการแข็งค่าเงินบาทนั้น ปัจจัยหลักมาจากการอ่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลพวงจากสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน แต่เชื่อว่า สุดท้ายเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าในช่วงกลางปีนี้ โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังไม่เกินดุล บวกกับทั้งรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการออกไปลงทุนของนักธุรกิจในไทยแนวโน้มลดลง

 

[caption id="attachment_377231" align="aligncenter" width="315"] นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี[/caption]

"เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น เพราะธนาคารและผู้ส่งออกมีการกู้เงินบาทกลับและคืนดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงต้นปี ซึ่งเป็นปกติที่ตลาดยกเลิกสัญญา หรือ Unwide Swap ที่ทำไปก่อนช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ จึงเห็นเงินบาทแข็งค่าในช่วงสั้น ๆ ส่วนตัวมองเงินบาทเป็น Safe Haven เห็นได้จากเงินไหลเข้าต้นปี ฝรั่งออกจากตลาดหุ้นโยกเข้าบอนด์ สะท้อนเงินแค่ย้ายพอร์ต จึงไม่ห่วงเงินบาท แต่ห่วงการค้าโลกที่จะรับผลกระทบจาก GSP มากกว่า"

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ค่าเงินบาทในปี 2562 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเทียบกับปี 2561 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าหายไป และไทยที่เพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีโอกาสเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ แต่การไหลเข้าจะขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แต่ไทยยังเป็นหลุมหลบภัย จึงมองว่า เงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพและมีโอกาสแข็งค่าบางจังหวะและมีความผันผวนในบางช่วง โดยมองกรอบค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากสิ้นปี 2561 เงินบาทอยู่ที่ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

"เนื่องจากไทยเป็น Safe Haven ทำให้นักลงทุนต่างชาติเอาเงินเข้ามาพักในตลาดพันธบัตร โดยดัชนีเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 3% ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่า 2-3% ต่อปี ถือว่าไม่มาก และ ธปท. ก็มีเครื่องมือจัดการหากเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนเร็วเกินไป"

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยอมรับว่า ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบช่วงระยะสั้นจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ แต่ถ้าแข็งค่ามากกว่านี้ก็น่ากลัว เพราะจะมีผลต่อการเจรจารับคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะยากขึ้น ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้น กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับการรับมือกับความเสี่ยงเงินบาทที่แข็งค่า ณ ปัจจุบัน ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ใช้ 3 วิธี คือ 1.ทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน (ฟอร์เวิร์ด) และขายดอลลาร์ล่วงหน้า 2.การตกลงกับคู่ค้าโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขาย เช่น ค้ากับจีนก็ใช้สกุลหยวน ค้ากับกลุ่ม CLMV หลายประเทศก็รับเป็นเงินบาท เป็นต้น 3.การเสนอขายสินค้าให้กับประเทศคู่ค้าที่มีสำนักงานตัวแทนในไทยเป็นเงินบาท และให้ชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาท


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,434 วันที่ 10 -12 ม.ค. 2562 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตลาดเกิดใหม่คึก! โบรกฯ แนะเพิ่มพอร์ตหุ้น-ทองคำ
เพิ่มพอร์ตหุ้นรอกำไร! จับตาต่างชาติไหลออก แนะหุ้นชั้นดี 2 เด้ง


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน