RISC เผยแนวทางป้องกันมลพิษทางอากาศ

18 ม.ค. 2562 | 23:57 น.
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ที่ดำเนินงานในด้านคุณภาพอากาศในเขตเมือง (Urban Outdoor Air Quality) มากว่า 12 ปี เผยว่า Urban Air Pollution หรือมลพิษทางอากาศ ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ อย่างการใช้ยานพาหนะ การก่อสร้าง การผลิต และขยะที่เราทิ้ง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการขยายตัวของชุมชนที่เพิ่มมากขึ้นจึงนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราทุกคนโดยเฉพาะในเขตเมืองที่แออัด

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC และอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ปี2561 พบว่าจำนวนประชากรทั่วโลกที่เสียชีวิตเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศมีถึง 4.2 ล้านคนต่อปี และมีประชากรโลกมากถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีคุณภาพอากาศที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้กล่าวถึงมลพิษทางอากาศที่เชื่อมโยงต่อการเสียชีวิตและการเกิดโรคต่าง ๆ ของประชากรทั่วโลก ได้แก่ การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด 29% โรคจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง 17% โรคหลอดเลือดสมอง 24% โรคหัวใจขาดเลือด 25% และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 43%

ติดตามฐาน นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์แล้ว มลพิษทางอากาศยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากหลายแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศเป็นแหล่งกำเนิดของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยที่ทำให้ภูมิอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2558 กล่าวถึงแหล่งที่มาของการเกิดมลพิษทางอากาศ ว่ามีทั้งที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่นการใช้ยานพาหนะ การก่อสร้าง เกษตรกรรม รวมถึงพฤติกรรมในสังคม เช่น การเผาขยะ การสูบบุหรี่ การเผาป่า เป็นต้น และการเกิดจากธรรมชาติ ได้แก่ ฝุ่นละออง ก๊าซ และรังสีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติด้วย

มลพิษทางอากาศถือเป็นภัยคุกคามที่มีความสำคัญต่อสุขภาพมนุษย์ ระบบนิเวศ และพืชผลทางการเกษตร ดังนั้นพื้นฐานในการพัฒนาที่อยู่อาศัยควรทำความเข้าใจถึงปัจจัยและแหล่งกำเนิดของมลพิษ รวมทั้งมีการสร้างนโยบายการปฏิบัติเพื่อควบคุมปริมาณมลพิษทางอากาศ ทำการตรวจสอบและประเมินผลด้านทางมลภาวะทางอากาศเป็นประจำ ปัจจุบันนี้มาตรฐานต่าง ๆ ได้มีการกำหนดปัจจัยดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศและแนวทางการตรวจประเมินคุณภาพอากาศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำไปพัฒนาที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงาน รวมถึงศึกษาตัวอย่างแนวคิดเชิงนวัตกรรมที่มีการพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพอากาศในระดับชุมชนหรือย่านให้ดีขึ้น

รศ.ดร.สิงห์ เผยว่า มีหลายหน่วยงาน เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) กรมควบคุมมลพิษ และองค์กรรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ได้พัฒนาและออกมาตรฐานระดับมลพิษในอากาศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

สำหรับแนวทางแก้ไขป้องกันสามารถทำได้ด้วยการปลูกต้นไม้ หรืออยู่ใกล้สวนสาธารณะ ซึ่งบริเวณที่มีฝุ่นละอองมาก เราควรออกแบบสวนหรือแนวต้นไม้กรองฝุ่นที่จะพัดเข้าสู่ภายในอาคาร นอกจากนี้ เราควรใช้ระบบการเติมอากาศแบบแลกเปลี่ยนความร้อน (Energy Recovery Ventilator, ERV) ซึ่งจะแลกเปลี่ยนโดยนำอากาศใหม่จากภายนอก พร้อมๆ กับดูดอากาศภายในออกไป โดยระบบจะทำการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิกัน ทำให้ลดความสิ้นเปลืองพลังงานของเครื่องปรับอากาศได้ดีกว่าการนำอากาศใหม่เข้ามาโดยตรงจากการเปิดหน้าต่าง และยังเป็นการลดความชื้นภายในห้องและลดการเกิดเชื้อราได้อีกด้วย

ส่วน ห้องนอนที่ดีควรมีการเติมอากาศดีจากภายนอกเข้าสู่ภายในห้องพัก โครงการ Whizdom ท่าพระ เป็นตัวอย่างโครงการที่เลือกระบบการเติมอากาศแบบแลกเปลี่ยนความร้อนนี้ ซึ่งจะช่วยนำอากาศใหม่จากภายนอก (ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า) มาเติมในห้องโดยไม่สิ้นเปลืองพลังงานของแอร์ และช่วยลดการสะสม CO2 ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียแม้นอนหลับตลอดคืน 2 (8) 3 (6)
รศ.ดร.สิงห์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรายังสามารถใช้หน้าต่างที่ช่วยให้มีการระบายอากาศอย่างต่อเนื่อง เป็นหน้าต่างแบบ enhanced ventilated windows ที่ออกแบบเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้แม้มีพื้นที่หน้าต่างน้อยมาก โดยเฉพาะอาคารคอนโดมิเนียม ขนาดเล็ก “นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ม่านน้ำเพื่อควบคุมฝุ่นละอองบริเวณสถานที่ก่อสร้าง และสร้างสรรค์ม่านน้ำเป็น design feature ในการออกแบบรอบๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถช่วยป้องกันมลพิษทางอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย”

ปัจจุบัน หลายเมือง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งเรื่องฝุ่นละออง สารพิษและปริมาณ CO2 การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยจึงจำเป็นต้องคิดทั้งเรื่องการฟอกและกรองอากาศ ทั้งภายในและภายนอก นวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการเป็นอยู่ที่ดีแม้อยู่ในเมืองที่แออัด สามารถศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center—RISC) ที่อาคาร Magnolias Ratchadamri Boulevard (MRB) แอดฐานฯ