สะพัด !!!วงการเหล็ก 3บิ๊กเหล็กโลก ดอดเจรจาเงียบซื้อกิจการ ทาทา สตีล

19 ม.ค. 2562 | 00:00 น.
รายงานพิเศษ

สะพัด !!!วงการเหล็ก

3บิ๊กเหล็กโลก ดอดเจรจาเงียบซื้อกิจการ ทาทา สตีล

 

กล่าวถึงกันมาพักหนึ่งแล้วเมื่อปลายปี2561 เมื่อสื่ออินเดียออกมาประโคมข่าว ทำนองว่า บริษัท ทาทา สตีลฯ (Tata Steel) ผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กทรงยาวสัญชาติอินเดีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ TSTH อยู่ในช่วงประกาศหาผู้ซื้อกิจการหรือเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มทาทา สตีล ที่ลงทุนในอาเซียนทั้งหมด

ดูเหมือนว่าล่าสุดข่าวนี้ทำท่าจะเป็นจริงเนื่องจากวงการเหล็กมีการกล่าวถึงกันหนาหูมากว่า ขณะนี้มีบริษัทเหล็กที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกอย่างน้อย 3 ค่ายที่เข้ามาหารือกับกลุ่มทาทา สตีล มีทั้งบริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่เบอร์2 ของจีนนามว่า Hebei Steel และบริษัทผู้ผลิตเหล็กเกรดพิเศษอีกรายในจีน ที่ยังไม่ยอมเปิดเผยชื่อ รวมถึงบริษัท Nssmc (Nippon Steel & Sumitomo Metal Corporation ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เบอร์ 1 จากญี่ปุ่น และเป็นผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก

รายหลังนี้มีประสบการณ์ลงทุนในไทยอยู่แล้ว เพราะถือหุ้นอยู่ในบริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ยังไม่ถูกเปิดเผยจากผู้บริหารของทาทา  สตีล ถึงรายละเอียดและ เงื่อนไข การเจรจาทั้งหมด แต่ว่ากันว่ามีแนวโน้มสูงที่เป็นการเข้าซื้อกิจการของ ทาทา สตีลในธุรกิจเหล็กที่ลงทุนในอาเซียนและกระจายอยู่ในประเทศไทยและ สิงคโปร์ โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ประกอบด้วย โรงงานผลิตเหล็กเส้น 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และสระบุรี , โรงเหล็กลวด 2แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง และที่ สิงคโปร์ 1 แห่ง  ผลิตในนามบริษัท Natsteel

รูปเหล็ก2

วงการเหล็กตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น  และมาตรการปกป้องที่ออกมาล่าช้า ทำให้ทาทา สตีล  ถอยออกมา และเปิดทางให้บิ๊กวงการเหล็กโลกเข้ามาเจรจา ที่เวลานี้อยู่ในช่วงทำดีลดิริเจนซ์ คาดว่าไม่น่าจะเกินเดือนมีนาคมนี้คงออกมาประกาศถึงความชัดเจนทั้งหมดได้แล้ว

อย่างที่เคยนำเสนอข่าวมาหลายครั้งถึงวิบากกรรมอุตสาหกรรมเหล็กที่ตั้งโรงงานในประเทศไทย  ทั้งทุนไทยทุนเทศ ต่างเผชิญโชคชะตากรรมเดียวกันถ้วนหน้า   นับตั้งแต่ปัญหาวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย เมื่อปี2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรง  สะเทือนหลายบริษัทผลิตเหล็ก ทั้งรายเล็กรายใหญ่ พากันล้มหายตายจาก บางรายก็ยอมขายกิจการให้ทุนไทยและต่างชาติที่มีสายป่านยาวกว่า  บางรายยอมยกธงขาวปิดกิจการไป

ย้อนรอย

-แข่งขันไม่เป็นธรรม

เมื่อสิ้นสุดวิกฤติการเงินกว่าจะฟื้นตัวใช้เวลานาน 5-10 ปี  พอเริ่มหายใจได้ไม่นาน อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ต้องมาเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีกครั้ง จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะมีเหล็กราคาถูกจากหลายประเทศเฮโลกันเข้ามาตีตลาดแข่งกับผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยครั้งแล้วครั้งเล่า

ถึงแม้ว่าเหล็กบางประเภทจะได้รับการปกป้องด้วยมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (เซฟการ์ด)  แต่การออกมาปกป้องดังกล่าว นอกจากล่าช้าไม่ทันเวลาแล้ว ยังมีเงื่อนเวลาและยังไม่สามารถรับมือได้ทั้งหมด   เพราะยังมีวิธีการนำเข้าที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อเลี่ยงภาษีได้  และยังคงมีการนำเข้าเหล็กราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามาต่อเนื่อง เข้ามาขายในราคาดั๊มตลาด

เหล็กจากจีนเข้ามาตีตลาด โดยที่รัฐบาลจีนอุดหนุนการส่งออก ถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม!   และที่แย่ไปกว่านั้น ขณะนี้กลุ่มทุนจีนไม่เพียงแต่ส่งออกเหล็กเข้ามาตีตลาด  แต่กลับเดินสายออกมาลงทุนนอกประเทศจีนมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน    การเคลื่อนย้ายทุนออกมานอกประเทศจีนเริ่มมากขึ้น หลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการหลอมเศษเหล็กแบบ Induction Furnace หรือ IFในจีน เพราะสร้างปัญหามลพิษภายในประเทศจีนอย่างหนักหน่วง ทำให้ปริมาณเหล็กหายไปจากจีนมากกว่า 100 ล้านตันก่อนหน้านี้

รูปเหล็ก3

-จีนถล่มไทยเขย่าขาบิ๊กเหล็กเส้น

การผลิตเหล็กจากจีนด้วยระบบ IF ไม่ได้หายไปจากตลาดแบบไปแล้วไปลับ... กลับตรงกันข้ามกำลังออกมาสร้างปัญหาด้านมลพิษให้กับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งไทยติดร่างแห่ด้วย    อีกทั้งยังเข้ามาเขย่าขาบิ๊กผู้เล่นรายใหญ่อย่างบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กลวดรายใหญ่เบอร์1 ในประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตด้วยวิธีการหลอมด้วยเตาชนิดอาร์กไฟฟ้า(Electric Arc Furnace) EAFซึ่งรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าระบบ IF ด้วยต้นทุนที่สูงกว่า โดยบิ๊กทาทา สตีลในไทยมีขนาดกำลังผลิตเต็มความสามารถของเครื่องจักรได้สูงถึง 2.5 ล้านตันต่อปี แต่ในความเป็นจริงผลิตได้ยังไม่ถึง 70%

อีกทั้งผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน 2562 (ก.ค.-ก.ย.61) TSTH แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณขายสินค้าได้รับผลกระทบจากความต้องการในภาคก่อสร้างที่ลดลง เมื่อเทียบกับปริมาณการขายในไตรมาสที่ 2 ปีก่อนหน้านั้นหรือลดลง11%เนื่องจากความต้องการเหล็กรูปพรรณขนาดเล็กและเหล็กเส้นในประเทศลดต่ำลง ทั้งนี้ปริมาณการขายสินค้าที่ลดลงจึงต้องถูกชดเชยด้วยปริมาณการส่งออกไปยังประเทศอินเดีย กัมพูชา และสปป.ลาว

ส่วนปริมาณการขายในช่วงครึ่งปีแรกของปีการเงิน 2562 มีจำนวน 569,000 ตัน ต่ำกว่าครึ่งแรกปีก่อนที่มีจำนวน 600,000 ตัน และยอดขายสุทธิในช่วงไตรมาส2ปีการเงิน2562เป็นจำนวน 5,822 ล้านบาทสูงขึ้น7% เมื่อเทียบกับไตรมากแรกเนื่องจากราคาขายเหล็กโดยรวมเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเศษเหล็กที่สูงขึ้น

แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3 ที่กำลังจะประกาศต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้จะดีกว่าไตรมาส 2  เพราะได้อานิสงศ์จากราคาขยับ  แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบว่าทิศทางของอุตสาหกรรมเหล็กนับจากนี้ไปจะเริ่มมองเห็นแสงสว่าง  ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งราคาพลังงานที่ยังผันผวน  ความไม่แน่นอนในนโยบายอุตสาหกรรมเหล็กในจีนที่ขยับอย่างไรก็สะเทือนถึงไทย เพราะยังต้องพึ่งพาการใช้เหล็กต้นน้ำจากจีน ในขณะที่ไทยก็เป็นเป้าหมายที่จีนส่งเหล็กเข้ามาตีตลาดอยู่แล้ว

-การแข่งขันริบหรี่คู่แข่งมีรัฐหนุน

เส้นทางเดินของอุตสาหกรรมเหล็กยิ่งดูยิ่งริบหรี่ในแง่การแข่งขัน เพราะแม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่อย่างบิ๊กทาทา สตีล ในวันนี้ก็ต้องวิ่งปรับตัว และยอมรับผ่านสื่อมาตลอดว่าต้องแข่งขันกับเหล็กนำเข้าจากจีนด้วยบรรทัดฐานที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้ผลิตเหล็กจีนมีรัฐบาลอุดหนุนในการส่งออก

รูปเหล็ก1

ในขณะที่การดูแล ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของรัฐบาลไทย  นอกจากเข้ามาแก้ปัญหาล่าช้าแล้ว  ล่าสุดเหล็กบางชนิด ก็ได้ถูกยกเลิกการปกป้อง เช่น การออกมาประกาศไม่ต่ออายุการใช้มาตรการปกป้อง(เซฟการ์ด)สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่ก่อนหน้านี้นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้เหตุผลว่า  คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง(คปป.) ได้ประชุมเมื่อเร็วๆนี้ และมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 3  เนื่องจากผลการไต่สวนออกมาชัดเจนว่าปริมาณการนำเข้าของสินค้าที่ถูกไต่สวนมีแนวโน้มลดลง ส่วนแบ่งตลาดสินค้านำเข้าลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมภายในประเทศมียอดขายและการใช้กำลังผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบจากสินค้านำเข้าพบว่ามีผลการขาดทุนลดลง

อีกทั้งก่อนหน้านี้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนออกมาพิจารณายุติการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนชนิดม้วนและไม่ม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และเกาหลี โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน และไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน

ไม่สอดคล้องกับความเห็นของผู้ผลิต  ที่ล่าสุดนายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารทั่วไป บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าเหล็กเคลือบสังกะสีในประเทศมีผู้ผลิตราว 10 รายรวมกำลังผลิตได้ 1 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันผลิตได้จริงไม่เกิน30%ในขณะที่ตัวเลขการนำเข้ากลับพุ่งสูงขึ้นมากจึงเป็นปัญหาที่ทำให้บริษัทต้องออกมาประกาศลดคนไปก่อนหน้านี้แล้ว50%จากที่มีพนักงานในบริษัทฯราว1,600คน

ด้านนายวิกรม วัชระคุปต์  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 มีการบริโภคเหล็กภายในประเทศรวมทุกชนิด 16.1 ล้านตัน  และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 17 ล้านตันเศษ   เติบโตตามการขยายตัวของจีดีพี ที่ระดับ 4-5%  โดยจำนวน 16.1 ล้านตัน  เป็นการผลิตในประเทศเพียง 6.5 ล้านตัน และมาจากการนำเข้าสูงถึง 11.1 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน  โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกประเภทและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเหล็กแผ่น ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยโดยเฉลี่ยยังใช้กำลังผลิตจริงได้ไม่ถึง40%

ดูจากภาพรวมของปัญหาในวงการเหล็กแล้ว  มีแนวโน้มสูงที่กลุ่มทุนจีนอาจจะเข้ามากินรวบตลาดเหล็กในไทยและในอาเซียน เนื่องจากมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจพื้นฐาน

ยังต้องจับตาว่าถึงที่สุดแล้วขาใหญ่ในวงการเหล็กสัญชาติอินเดีย อย่างกลุ่มทาทา สตีลจะก้าวไปในทิศทางไหน และอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยที่เหลืออยู่ จะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตกลายเป็นผู้นำเข้าแทนหรือไม่ยังต้องติดตามต่อไป!

ติดตามฐาน