ระวังไฮสปีดเทรน ตราบาปรัฐบาลคสช.

18 ม.ค. 2562 | 14:35 น.
ระวัง-01 การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือ ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนกว่า 1.1 แสนล้านบาท เดินใกล้ถึงโค้งสุดท้ายของการพิจารณาซอง 4 ข้อเสนอพิเศษ

ของกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเสนอวงเงินให้รัฐอุดหนุนโครงการตํ่าสุดที่ราคามูลค่าปัจจุบันสุทธิ 117,227 ล้านบาท ตํ่ากว่ากรอบวงเงินคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท

อ่าน | ยื้อ! "ไฮสปีด 3 สนามบิน" ร.ฟ.ท. ปัด 8 ข้อเสนอ 'ซีพี' 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ได้นัดเจรจาต่อรองกับกลุ่มซีพีเป็นนัดสุดท้าย ท่ามกลางกระแสข่าวการยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมของกลุ่มซีพี ที่เป็นโจทย์ยากในการตัดสินใจของคณะกรรมการ 5 ประเด็น คือ 1.ขอหลักประกันกำไร 6% 2.ขอสิทธิ์ลดสัดส่วนหุ้นของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด จาก 70% เหลือ 5% ในอนาคต

3.ขอให้ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนโครงการตั้งแต่ปีที่ 1 ของการดำเนินโครงการ จากเดิม ที่กำหนดให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเมื่อเริ่มเดินรถประมาณ 5 ปี 4. การให้เงิน กู้ดอกเบี้ยตํ่า โดยให้ภาครัฐมีมาตรการอุดหนุนเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการนี้อยู่ในระดับตํ่า เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน และ 5.ให้สถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเงินกู้เจรจากับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อปรับเพดานการปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชนรายเดียวสูงขึ้น

[caption id="attachment_376318" align="aligncenter" width="500"] ระวังไฮสปีดเทรน ตราบาปรัฐบาลคสช. เพิ่มเพื่อน [/caption]

คงต้องยอมรับว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี วาดฝันว่าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล และถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนโครงการอีอีซี เพราะนอกจากเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสำหรับประชาชนแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่รองรับการพัฒนาและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง

ต้องไม่ลืมว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ให้สัมปทานในการเดินรถและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กับเอกชนที่ชนะการประมูลนานถึง 50 ปี ซึ่งในอดีตเราเคยมีบทเรียนเกี่ยวกับการจ่ายค่าโง่โครงการขนาดใหญ่ ที่สร้างตราบาปให้กับประเทศมาแล้วหลายโครงการ ดังนั้นในการพิจารณาข้อเสนอต่างๆที่ภาคเอกชนเรียกร้อง จะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการทำสัญญาต่างๆจะต้องรัดกุม เอาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเป็นไปในการลงทุน ผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นตัวตั้ง อย่าให้โครงการชิ้นโบแดงกลายเป็นตราบาปของรัฐบาลคสช.

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3437 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-23 ม.ค.2562

595959859