DW ร้อนแรง! ทำนิวไฮ KGI เน้น "บริหารความเสี่ยง"

20 ม.ค. 2562 | 10:26 น.
| สัมภาษณ์พิเศษ : เจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

....................


การซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) หรือ DW ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มูลค่าการซื้อขายทั้งปีประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 4,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2560 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขาย DW คิดเป็นประมาณ 6% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2561 ก็ใกล้เคียงกันประมาณ 7% แต่มาคึกคักขึ้นมากในไตรมาส 4 การซื้อขาย DW เป็นสัดส่วนถึง 11% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือว่าคึกคักมาก เพราะตลาดมีความผันผวนสูงขึ้น และสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่ง คือ มูลค่าการซื้อขาย Put มีมากกว่า Call

 

[caption id="attachment_376685" align="aligncenter" width="503"] เจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ เจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์[/caption]

"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะซื้อขาย Call เป็นสัดส่วนถึง 70% และซื้อขาย Put 30% แต่ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงในปัจจุบัน ที่ภาวะตลาดหุ้นปรับตัวลดลง นักลงทุนซื้อขาย Call เป็นสัดส่วน 30% และซื้อขาย Put เพิ่มขึ้นเป็น 70-80% ซึ่งการซื้อขาย Put เป็นเครื่องมือทำกำไรในตลาดขาลง ถือว่านักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือนี้ในการทำกำไรมากขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา"

ในปี 2561 หลักทรัพย์อ้างอิงบน DW ที่ซื้อขายกันสูงสุด คือ SET50 เป็นสัดส่วน 52% อันดับรอง ๆ ลงมาเป็น DW ที่อ้างอิงหุ้น PTT, KTC, PTTEP และ BEAUTY รวม ๆ กันสัดส่วนประมาณ 15%

การซื้อขาย DW ปัจจุบันก็ยังคึกคักต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา นักลงทุนยังซื้อขาย Put ในสัดส่วนประมาณ 60% ยังมากกว่า Call สัดส่วนการซื้อขาย DW เมื่อเทียบมูลค่าการซื้อขายรวมก็อยู่ที่ระดับ 11% และมองว่า การซื้อขาย DW ทั้งปี 2562 นี้ จะคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 10% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การแข่งขันในวงการผู้ออก DW ในปี 2561 จากจำนวนโบรกเกอร์ผู้ออก DW 14 ราย มีรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 ราย มีการแข่งขันกันดุเดือด มีการตัดราคากันเกิดขึ้น ขณะที่การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ออก DW ต้องซื้อขายหุ้นเพื่อมารองรับ DW ที่ออกตลาดหุ้นผันผวนมาก การซื้อขายต้องทำด้วยความรวดเร็ว ต้องบริหารพอร์ตให้ดี


MP18-3437-A

นายเจนวิทย์ กล่าวว่า การออก DW ของหุ้น โบรกเกอร์ต้องซื้อหุ้นนั้น ๆ มารองรับ DW ที่ออกเป็นมูลค่าประมาณ 3-5 เท่าของมูลค่า DW ที่ออก มากน้อยตามอัตราทดของ DW ขณะที่ การออก DW ของ SET50 จะต้องซื้อสัญญาที่ TFEX เป็นมูลค่า 10-20 เท่า

ส่วนการซื้อขายหุ้นที่อ้างอิงในการออก DW จะกระทบต่อราคาหุ้นหรือไม่ นายเจนวิทย์ กล่าวว่า หุ้นอ้างอิงที่จะออก DW จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ใน SET100 มูลค่ารวมตามราคาตลาดเกิน 1 หมื่นล้านบาท มีสภาพคล่องการซื้อขายสูง และในหุ้น 100 ตัว ก็ต้องเลือกแค่ 70-80 ตัว เพราะหุ้นบางตัวบริหารความเสี่ยงยาก ส่วน DW ที่อ้างอิงกับ SET50 ก็ไม่ต้องกังวล เพราะการซื้อขายใน TFEX มีสภาพคล่องสูงถึงวันละ 3 แสนสัญญา การซื้อขายเพื่อรองรับ DW มีเพียงวันละ 3-4 หมื่นสัญญา

สำหรับกลยุทธ์และเป้าหมายในปี 2562 นายเจนวิทย์ กล่าวว่า ในปีนี้จะครบรอบ 10 ปีของวัฏจักรหุ้นขาขึ้น จะเป็นสภาวะที่ผู้ออก DW ไม่เคยเจอมาก่อน ตลาดหุ้นแกว่งตัวผันผวน เป็นช่วงการแกว่งที่กว้างขึ้น เร็ว และแรง ซึ่งในภาวะตลาดที่ผันผวน นักลงทุนจะชอบ เพราะมีโอกาสทำกำไรได้มาก แต่ในด้านของผู้ออก DW จะต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ในปีนี้ KGI จะเน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้ดีและมีประสิทธิภาพ

นายเจนวิทย์ กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าโบรกเกอร์ทุกรายจะเป็นผู้ออก DW แล้วทำกำไรได้ง่าย ๆ ถ้าบริหารความเสี่ยงไม่ดีก็จะทำให้บริษัทขาดทุนได้ เพราะการบริหารความเสี่ยงตราสารอนุพันธุ์มีความซับซ้อน ใน 5 ปีที่ผ่านมา เราลงทุนในการทำการตลาดมาก แต่ในปีที่ผ่านมา KGI ลงทุนกับระบบในการบริหารความเสี่ยงถึง 30 ล้านบาท ถือว่าเป็นวงเงินที่สูง และในปีนี้ก็ยังลงทุนต่อเนื่อง ทั้งระบบและบุคลากร ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 50 ล้านบาท

"ธุรกิจ DW ช่วยกระจายความเสี่ยงให้โบรกเกอร์ กระจายแหล่งรายได้ แนวโน้มความต้องการของลูกค้าจะมีเพิ่มขึ้น จำนวนซีรีส์ที่ออกจะมีความหลากหลายมากขึ้น ตลาดหุ้นในปีนี้จะผันผวนมากขึ้น ต้องรับมือเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้ดี"

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,437 วันที่ 20-23 มกราคม 2562

595959859