บิ๊กธุรกิจไทยชักแถวยึดหัวหาดศรีลังกา

16 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
"สมคิด"นำทัพรัฐ-เอกชนบุกศรีลังกาได้น้ำได้เนื้อ สองฝ่ายจับมือเตรียมเปิดเจรจาเอฟทีเอ ดันการค้าโต 3 เท่าใน 5 ปี พร้อมหนุนเอกชนไทยลงทุนใช้เป็นฮับเจาะตลาดเอเชียใต้ ขณะค่ายซีพีเล็งทุ่มพันล้านผุดโปรเจ็กต์ปศุสัตว์ครบวงจร ไทยเบฟ เตรียมลุยธุรกิจเครื่องดื่ม กลุ่มร.พ.กรุงเทพผนึกเบอร์4 ส่งต่อผู้ป่วยรักษาในไทย ขณะค่ายสหพัฒน์แย้มเตรียมตั้งแทนจำหน่ายมาม่า ช.การช่าง-อิตัลไทย-มิตรผลชักแถวบุก ขณะผลจับคู่เจรจาไทยรับออร์เดอร์กลับบ้านกว่า 400 ล้าน

จากที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนรายใหญ่ และรายย่อยกว่า 50 บริษัท เดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2559 นั้น ผู้สื่อข่าว "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานผลการเดินทางเยือนครั้งนี้ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมหลายประการอย่างชัดเจน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่า การเดินทางเยือนศรีลังกาในครั้งนี้ เป็นการสานต่อการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยติดตามความคืบหน้าผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับประธานาธิบดีศรีลังกา ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เกษตร และประมง รวมถึงความร่วมมือด้านวิชาการด้วย การเดินทางมาในครั้งนี้ ได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีของศรีลังกา และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นประธานร่วมการประชุมทวิภาคีรัฐมนตรีเศรษฐกิจไทย-ศรีลังกา พบปะและหารือกับนักธุรกิจชั้นนำของศรีลังกาด้วย

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในการเดินทางเยือนศรีลังกาในครั้งนี้ที่สำคัญคือ ได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสาร 2 ฉบับได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการไทย-ศรีลังกา ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการศึกษาและโครงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ และ 2. แผนปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยว ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2559-2563 ) เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง 1 ฉบับ เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมชา และด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มระหว่างกัน

 เห็นพ้องทำ FTA ดันการค้า

ขณะเดียวกันทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นพ้องกันที่จะมีการเปิดเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) เพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของไทยได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ไปจัดทำกรอบการเจรจา รวมถึงเป้าหมายการลดภาษีต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันการค้าไทย-ศรีลังกาให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีเป้าหมายขยายตัว 3 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (การค้า 2 ฝ่ายในปี 2558 มีมูลค่า 488 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.64 หมื่นล้านบาท)

ศก.โตสุดในเอเชียใต้

"ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในเอเชียใต้ และมีเสถียรภาพทางการเมือง โดยคาดว่าในปี 2559 เศรษฐกิจของศรีลังกาจะโตประมาณ 7.3 % ดังนั้นจึงมีความต้องการสินค้า บริการ และการลงทุนอีกจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจก่อสร้าง ออกแบบ ตกแต่ง วัสดุก่อสร้าง สินค้าอาหาร เครื่องใช้และของตกแต่งบ้านของไทย ขณะเดียวกันต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการของไทยกล้าที่จะไปลงทุนตั้งโรงงานในตลาดใหม่ โดยจะให้ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เป็นพี่เลี้ยง โดยอาจจูงใจในเรื่องผลกำไรจากการไปลงทุนสามารถนำเงินเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น"ดร.สมคิดกล่าวและว่า ศรีลังกาจะเป็นฐานการลงทุนใหม่ของไทยในอนาคต โดยมีศักยภาพในการเป็นประตูสู่ตลาดขนาดใหญ่ในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย และปากีสถาน โดยมีท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเส้นทางการเดินเรือที่เชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกับตะวันตก สามารถส่งเสริมความร่วมมือด้านการคมนาคมทางทะเลระหว่างกัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาซึ่งไทยได้ร่วมพัฒนาด้วย

 ซีพีจ่อลงทุนพันล้าน

ด้านนายณัฐกฤช ศิวะศรี ประธานกรรมการภาคพื้นเอเชียใต้ (ยกเว้นอินเดีย) กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ศรีลังกาเป็นตลาดที่น่าสนใจ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทางเครือจะมาลงทุนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ครบวงจร โดยเป็นโครงการ 5 ปี ตั้งแต่การส่งเสริมปลูกข้าวโพด การตั้งโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มการเลี้ยงไก่ จนถึงการแปรรูป คาดจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ปัจจุบันราคาเนื้อไก่ในศรีลังกาถือว่าจูงใจโดยมีราคาถึงกิโลกรัมละ 150 บาท ขณะที่ไทยอยู่ที่ประมาณ 100 บาท ส่วนข้าวโพดวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทย กิโลกรัมละ 8 บาท ของศรีลังกาตกกิโลกรัมละ 12 บาท เชื่อว่าหากซีพีมาทำธุรกิจในศรีลังกา จะทำให้ราคาเนื้อไก่ถูกลง เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในประเทศ

 ไทยเบฟลุยเครื่องดื่ม

ส่วนนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)กล่าวว่า ก่อนการเดินทางในครั้งนี้ ทางบริษัทได้มีการหารือกับ John Keels Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของศรีลังกา เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจอีกหลายอย่าง ส่วนเม็ดเงินลงทุนนั้นยังไม่ขอเปิดเผยเพราะอยากพิจารณาให้รอบคอบก่อน โดยมีเป้าหมายใช้ศรีลังกาเป็นฐานผลิต และกระจายสินค้าไปสู่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน และยุโรป ถือเป็นการสานเจตนารมณ์ของรองนายกรัฐมนตรีที่อยากจะให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

 ร.พ.กรุงเทพรับส่งต่อผู้ป่วย

ขณะที่น.พ.นิวัติ อินทรวิเชียร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เผยว่า ได้มีการเจรจากับกลุ่มโรงพยาบาล Hemas (แฮร์เมส) ซึ่ง เป็นโรงพยาบาลท้องถิ่นที่อยู่ในอันดับ 4 ของศรีลังกา เพื่อเซ็นสัญญาความร่วมมือในการส่งต่อผู้ป่วยมารักษาในไทย เนื่องจากเวลานี้แพทย์ส่วนใหญ่ในศรีลังกาเป็นแพทย์ด้านอายุรกรรม ยังขาดความรู้และเทคโนโลยี ในการรักษาโรคเฉพาะทาง

"คาดว่าหลังจากเซ็นสัญญากันเรียบร้อย ประเดิมในปีแรก จะมีรายได้ในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท"

 ช.การช่าง-อิตัลไทยจ่อบุก

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ช.การช่าง และนายจริยะ วงศ์ถ้วยทอง รองประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ศรีลังกา เป็นตลาดที่น่าสนใจ และกำลังศึกษาอยู่ ซึ่งจากเศรษฐกิจของศรีลังกาที่ขยายตัวสูงถือมีความท้าทายเพราะจะมีความต้องการสินค้า บริการ และการลงทุนอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจก่อสร้าง ออกแบบ ตกแต่ง รวมทั้งวัสดุก่อสร้างจากไทย

เช่นเดียวกับ กลุ่มมิตรผลที่นางสาวปณิตา ว่องกุศลกิจ ผู้บริหารรุ่นใหม่ของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล เปิดเผยว่า ปัจจุบันน้ำตาลมิตรผลมีขายในศรีลังกาแล้วโดยผ่านตัวแทน แต่ในอนาคตหากมีโอกาสจะติดต่อโดยตรงกับผู้ใช้น้ำตาลในศรีลังกา เบื้องต้นพบว่าจากปัจจุบันศรีลังกานำเข้าน้ำตาลจากอินเดีย 90%

 สหพัฒน์แย้มตั้งตัวแทน

ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง เผยว่า มีนักธุรกิจศรีลังกา สนใจที่จะนำบะหมี่มาม่าไปจำหน่าย เพื่อให้คนศรีลังการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ยินดี ขณะเดียวกันก็กำลังศึกษาตลาดว่าจะนำสินค้าใดมาจำหน่ายในศรีลังกาดี คงต้องใช้เวลา คงไม่ใช่ในปีนี้แน่นอน ขณะที่ตนมีมุมมองเช่นเดียวกับรองนายรัฐมนตรีว่าศรีลังกาแม้จำนวนคนจะไม่มาก (20กว่าล้านคน)แต่หากใช้เป็นฐานไปสู่ตลาดอื่นๆได้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และยุโรป ที่อยู่ใกล้กัน มองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีโอกาสที่สินค้าไทยจะเติบโตเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น

 เร่งการบ้านดันท่องเที่ยว

ด้านนางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านการตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการที่ไทยและศรีลังกาได้ลงนามแผนปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันในครั้งนี้ ทาง ททท. จะไปวางแผนจัดกิจกรรมและโปรโมต อาทิ การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จากปัจจุบันคนไทยไปเที่ยวที่ศรีลังกา 4-5 พันคนต่อปี ขณะที่คนศรีลังกามาเที่ยวไทย 7.5 หมื่นคนต่อปี

 รับออร์เดอร์400ล.กลับบ้าน

ขณะที่นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยถึง ผลการจัดกิจกรรมบิสิเนส แมตชิ่ง เจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย-ศรีลังกาในระหว่างการเยือนครั้งนี้ได้ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก โดยมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าทั้งสิ้นประมาณ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 480 ล้านบาท) แบ่งเป็นยอดสั่งซื้อทันที 9.72 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 36 ล้านบาท) และยอดที่คาดว่าจะสั่งซื้อภายใน 1 ปีอีกประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 444 ล้านบาท)

"สินค้าไทยที่ได้รับความสนใจและมีแนวโน้มและเป็นที่ต้องการในตลาดศรีลังกาในครั้งนี้ ได้แก่ เวชภัณฑ์ยารักษาโรค,สินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ โซ่มอร์เตอร์ไซค์ ถังบรรจุก๊าซ /วัสดุของเหลวติดตั้งบนรถบรรทุกและถังก๊าซที่ใช้ในครัวเรือน,สินค้าอาหารประเภทแช่เย็นแช่แข็ง อาหารพร้อมรับประทาน ซูริมิ และขนมขบเคี้ยว,สินค้าเครื่องสำอางได้แก่ ครีมทาหน้าที่ทำจากสมุนไพร รวมถึงครีมทาหน้าขาว ,5. สินค้าของใช้ในโรงแรม และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559