จุดพัก "เงินร้อน" !! ปัญหาไม่ควรมองข้าม

18 ม.ค. 2562 | 08:24 น.
พร้อม ๆ กับการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเพื่อการลงทุน การเก็งกำไร หรือเพื่อการมีที่พักอาศัยในต่างแดนของชาวจีน คือ การเข้ามาซื้อเพื่อเป็นช่องทางในการฟอกเงินและการซุกซ่อนเงินร้อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม ยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา การแห่เข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ของทุนจีน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จับตาตรวจสอบทิศทางและการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนที่เข้า-ออกผ่านธนาคารจีน ที่เข้ามาตั้งสาขาในสหรัฐอเมริกาเป็นราย ๆ ไป และที่ผ่านมา ได้เคยมีการตั้งข้อสงสัยและออกมาตรการชี้แจงให้ธนาคารจีนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินทุนที่ถูกโอนเข้ามาในสหรัฐฯ

เช่นล่าสุด เมื่อต้นปี 2561 เฟดได้ขอให้ธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China หรือ ICBC หนึ่งในธนาคารจีนที่ติดอันดับ "ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลก" ไปจัดทำมาตรการป้องกันการฟอกเงินผ่านธุรกรรมของธนาคารภายใน 60 วัน เนื่องจากเฟดเห็นว่า มาตรการของ ICBC ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าว

 

[caption id="attachment_376318" align="aligncenter" width="500"] จุดพัก "เงินร้อน" !! ปัญหาไม่ควรมองข้าม เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเองก็มีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกนอกประเทศ โดยเริ่มจากวันที่ 1 ม.ค. 2560 หรือประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา จีนเพิ่มความเข้มงวดและเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ที่กระทำการละเมิดกฎหมายการนำเงินออกนอกประเทศ โดยบุคคลทั่วไปสามารถนำเงินออกนอกประเทศได้มากสุดปีละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคน (ราว 1.65 ล้านบาท) และหากต้องการถอนหรือโอนเงินสกุลต่างประเทศออกจากบัญชีธนาคาร ต้องกรอกแบบฟอร์มยื่นเรื่องชี้แจงต่อสำนักงานกำกับดูแลเงินตราต่างประเทศของจีน หรือ State Administration of Foreign Exchange ว่า จะนำเงินไปทำอะไร เว็บไซต์ "จูไหว่ดอตคอม" ซึ่งเป็นเว็บใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ซื้อชาวจีนที่กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เปิดเผยว่า มี 4 เหตุผลสำคัญ ที่ชาวจีนต้องการนำเงินออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ นั่นคือ เพื่อการลงทุน เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน และเพื่อการศึกษา (ส่งตัวเองหรือลูกมาเรียนในต่างประเทศ) ชุมชนใหม่ของชาวจีน หรือ นิวไชน่าทาวน์ (New Chinatown) กำลังผุดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ที่เมืองซิดนีย์และเมลเบิร์น ในออสเตรเลีย และแมนเชสเตอร์กับลิเวอร์พูลในประเทศอังกฤษ รวมทั้งเมืองมหาวิทยาลัยอย่าง บริสตอล ที่ซึ่งชาวจีนสามารถซื้ออพาร์ตเมนต์ในราคา 200,000-250,000 ปอนด์ (ประมาณ 8.2-10.2 ล้านบาท)

ตราบใดที่รัฐบาลจีนยังไม่ได้เพิ่มมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก การนำเงินออกมาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศก็จะยังคงความร้อนแรง ยิ่งเศรษฐกิจจีนชะลอตัวการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในประเทศก็ยิ่งไม่น่าจูงใจและแนวโน้มที่เงินทุนจะไหลออกมาสู่อสังหาริมทรัพย์ที่เย้ายวนใจมากกว่า ก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,434 วันที่ 10 -12 ม.ค. 2562 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หวั่น 'จีน' ทิ้งดาวน์คอนโดฯ!! ดีเวลอปเปอร์หนีตาย ปรับพอร์ต เล็งลูกค้ายุโรป-รัสเซีย
ลุ้น "ลูกค้าจีน" โอนคอนโดฯ ตามนัด!!


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว