"EN-TECH" กล้าแตกต่างอย่างโดดเด่น ... ปฏิวัติการศึกษาไทย ป้อนตลาดแรงงาน

21 ม.ค. 2562 | 02:15 น.
"ไม่ได้เป็นคนเก่ง แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ทั่วไป ก็คือ มีการทำวิจัยตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนในการตอบสนองความต้องการของตลาด และสามารถทำตลาดได้อย่างตรงจุด แต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะไม่รู้ตลาดของตนเองอยู่ที่ไหน อย่างไร"

... นี่คือ คำพูดจาก ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ผู้ชายที่ก้าวเข้ามาเป็นเอสเอ็มอีเมื่อตอนอายุ 45 ปี โดยเลือกหยิบจับธุรกิจทางด้านการศึกษาที่ตนเองถนัดมาวางรากฐาน จากการมองเห็นช่องว่างทางการศึกษาและโอกาสในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง จนทำให้ "วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง" (EN-TECH) ติดอันดับสถานศึกษาระดับอาชีวะที่มีค่าเทอมแพงที่สุด 1 ใน 3 ของประเทศ และแพงที่สุดใน จ.ชลบุรี แต่นักเรียนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


002

➣ ช่องว่างการศึกษาสู่ธุรกิจ

ดร.ทรรศนะ ผู้อำนวยการ EN-TECH บอกกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ปัจจุบัน วิทยาลัยมีนักเรียนอยู่ 1,700 คน จากเริ่มแรกที่มีนักเรียน 700 คน ตอนเข้ามาบริหาร โดยตนก้าวเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวนี้ได้ด้วยจังหวะของเวลา ที่วันหนึ่งได้มีโอกาสไปสอนผู้อำนวยการ (ผอ.) อาชีวะของภาครัฐทั่วประเทศ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยที่ตอนนั้นตนมีตำแหน่งเป็นคณบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งบนเวทีได้พูดออกไปว่า จะสร้างโรงเรียนอาชีวะที่มีศักยภาพในระดับสูง หลังจากนั้นได้มี ผอ.ท่านหนึ่ง เข้ามาสอบถามว่าสนใจจะทำอย่างที่พูดจริงหรือไม่

นี่คือ จุดเริ่มที่นำให้ตนได้มาพบกับ EN-TECH ซึ่งมีที่ตั้งอยู่กลางท่าเรือแหลมฉบัง จึงตัดสินใจที่จะลงทุนในทันที แต่ด้วยความที่เป็นเอสเอ็มอีและเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสถานศึกษา สถาบันการเงินจึงปฏิเสธที่จะปล่อยกู้ให้ แต่ก็ยังโชคดีที่มีสถาบันการเงินแห่งหนึ่งให้ความเมตตาปล่อยกู้ให้ โดยที่ตนต้องนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน

"ผมไม่ได้จบอาชีวะ แต่รู้สึกว่า ประเทศนี้เดินมาด้วยอาชีวะตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบัน กลายเป็นผิดหัวผิดตัวกันไปหมด โดยมีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า ขาดแรงงานมีฝีมือ ตนเลยคิดว่าต้องเข้าไปทำ"


➣ วิทยาลัยที่แตกต่าง

ดร.ทรรศนะ บอกต่อไปว่า ปัจจัยที่ทำให้ EN-TECH มีความโดดเด่น ประกอบไปด้วย 1.วิทยาลัยเราไม่ตีกัน ด้วยกฎระเบียบที่เข้มข้น ใครเริ่มก่อนถูกไล่ออก โดยตนมีความเชื่อว่า ในโลกนี้ไม่มีใครกลัวกฎที่เข้ม แต่กลัวกฎที่ไม่ยุติธรรมมากกว่า ซึ่งตนจะปฐมนิเทศให้ผู้ปกครองรับรู้ตั้งแต่ต้น โดยที่วิทยาลัยนักเรียนจะต้องเข้าแถว 3.07 นาที หากเข้าไม่ได้ตามเวลา จะต้องเข้าใหม่จนกว่าจะได้ จะต้องร้องเพลงชาติและสวดมนต์ให้ดัง โดยเมื่อเราทำตั้งแต่ต้น เด็กก็จะเกิดความเคยชิน

2.ปลอดยาเสพติด 100% เป็นเวลา 8 ปีซ้อน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยได้เป็นโรงเรียนสีขาวของ จ.ชลบุรี และของประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำได้มาจากการที่ตนรับสมัครครูโดยการคัดกรองครูที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้ง 60 ท่าน หากพบว่า นักเรียนสูบจะมีโทษพักการเรียน 1 เทอม อีกทั้งจะมีการสุ่มตรวจปัสสาวะทุกวันจันทร์ และตรวจทั้งวิทยาลัยทุกเทอม

3.วิทยาลัยมีแอพพลิเคชัน ที่ชื่อว่า "โฟร์เรียล" (4Real Education) โดยเมื่อเด็กมาถึงวิทยาลัยจะต้องทำการสแกน ซึ่งข้อมูลจะถูกเชื่อมต่อไปยังผู้ปกครอง ทำให้สบายใจได้ว่า อยู่ในการดูแลของวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว โดยบังคับทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่สำคัญวิทยาลัยมีทางเข้าออกแค่เพียงทางเดียว ตอนเที่ยงรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน รวมทั้งตนและครูทุกคน โดยทุกคนต้องเข้าแถวในการซื้ออาหาร ไม่มีอภิสิทธิ์ให้สำหรับครู ซึ่งตนปลูกฝังด้วยการทำตัวอย่างให้ดูด้วยตนเอง แม้กระทั่งการยืนเข้าแถวกลางแดด


TP8-3437-A

อย่างไรก็ดี ในแอพดังกล่าวยังสามารถควบคุมครูทั้งโรงเรียนในเรื่องของการลงคะแนนเก็บให้เด็กนักเรียนได้ด้วย เพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกรายงานเข้ามาทั้งหมด นอกจากนี้ สิ่งที่ตนให้ความสำคัญเพื่อช่วยเสริมเรื่องการศึกษาให้กับนักเรียน ก็คือ การทำหลักสูตรการเรียนในรูปแบบออนไลน์ (e-Learning) โดยที่ปัจจุบัน มีประมาณ 700 หลักสูตร และมีการอัพเดตข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ พร้อมข้อสอบให้ได้ฝึกทำ

"หากจะทำวิทยาลัยอาชีวะที่เหมือนอาชีวะทั่วไป ก็อย่าทำเสียดีกว่า เพราะรูปแบบนั้นมีมากมายอยู่แล้ว ขณะที่ ชลบุรีก็เป็นจังหวัดที่มีอาชีวะมากที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันสูง หากเราไม่มีจุดแข็ง ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่เด็กและผู้ปกครองจะได้รับ เพื่อให้ผู้ปกครองอยากฝากเด็กไว้ในการดูแลของเรา"


สอน TOEIC ทุกระดับชั้น

ดร.ทรรศนะ บอกอีกว่า ความแตกต่างของวิทยาลัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเด็กนักเรียน ก็คือ การที่วิทยาลัยจะมีการสอบวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษในระดับการสื่อสารทั่ว ๆ ไป หรือ โทอิค (TOEIC) ทุกระดับชั้นการศึกษา โดยถือเป็นภาควิชาบังคับและสอนให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งจัดศูนย์สอบให้ในวิทยาลัย โดยวิทยาลัยเป็นศูนย์สอบโทอิคที่ได้มาตรฐานเดียวกับกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ วิทยาลัยยังร่วมกับมหาวิทยาลัยฟิน (Finn college) จากประเทศอังกฤษ เพื่อเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยวิทยาลัยได้รับเลือกให้เป็นสาขาในประเทศไทย ซึ่งจะมีการส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัย (Professor) รวมถึงข้อสอบจากประเทศอังกฤษ มาเป็นผู้สอนและส่งข้อสอบไปตรวจที่อังกฤษ โดยเรียน 2 ปีแรกที่ประเทศไทย และปีสุดท้ายที่อังกฤษสำหรับปริญญาตรี ส่วนปริญญาโทจะเรียนที่ประเทศไทย 8 เดือน รวมการทำวิทยานิพนธ์ และ 2 เดือนสุดท้ายไปเรียนที่อังกฤษ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกจากค่าที่พักและค่าเดินทาง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กจากประเทศจีน ลาว กัมพูชา และเด็กไทยที่เป็นทายาทเจ้าของกิจการ

"ปัจจุบัน วิทยาลัยมีหลักสูตรสาขาช่างประมาณ 75% เพื่อตอบสนองนิคมอุตสาหกรรม เช่น ช่างยนต์ ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และโลจิสติกส์ พร้อมสาขาพาณิชย์ โดยมี บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) รับนักศึกษาปีละ 50 คน และบริษัท ทีไอพีเอส จำกัด (TIPS) รับ 11 คนต่อปี เข้าไปทำงานคู่กับการเรียนหนังสือในรูปแบบของทวิภาคี ซึ่งเด็กจะได้รับการฝึกแบบปฏิบัติงานจริงและได้สวัสดิการเหมือนพนักงานทั่วไป พร้อมเงินเดือน โดยเมื่อจบการศึกษาส่วนใหญ่ก็จะรับเข้าทำงานต่อในทันที"

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3437 วันที่ 20-23 มกราคม 2562

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก