กระแสขอจัดประชามติครั้งใหม่มาแรง! 'อังกฤษ' ยังป่วน "เบร็กซิท"

21 ม.ค. 2562 | 05:28 น.
มีความเป็นไปได้มากขึ้น ว่า ... อาจจะมีการจัดทำประชามติในประเทศอังกฤษอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ หลังจากที่ได้เห็นความปั่นป่วนวุ่นวายและยังหาความชัดเจนไม่ได้ ว่า จริง ๆ แล้วการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) นั้น ควรจะเป็นไปในรูปแบบใด และอังกฤษจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน ซึ่งเป็นผลมาจากการลงมติขอถอนตัวออกจากอียู หรือ "เบร็กซิท" (Brexit) เมื่อปี 2559 ที่ทำให้อังกฤษต้องเข้าสู่กระบวนการต่าง ๆ ในการถอนตัวจากอียู แม้รัฐบาลที่นำโดย นางเทเรซา เมย์ จากพรรคอนุรักษนิยม จะจัดทำข้อตกลงเบร็กซิทที่ผ่านการเห็นชอบของผู้นำรัฐบาล 27 ชาติสมาชิกอียูเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา (2561) แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็ยังไม่ผ่านการรับรองโดยรัฐสภาของอังกฤษเอง ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียงกว่า 70 วัน ก็จะถึงกำหนดที่อังกฤษจะต้องถอนตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 มี.ค. ที่จะถึงนี้แล้ว

จากความวิตกว่า การถอนตัวออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติและระบุถึงความสัมพันธ์ของอังกฤษต่ออียูในอนาคต จะสร้างความไม่แน่นอนและส่งผลต่อเสถียรภาพของอังกฤษ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่เริ่มจะตีบตันดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษเองพยายามหารือขอเสียงสนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิทจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อให้การนำข้อตกลงดังกล่าวยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 21 ม.ค. นี้ ประสบผลสำเร็จ แต่อีกด้านหนึ่ง บรรดาผู้นำพรรคการเมืองที่ประกอบด้วยพรรคเอสเอ็นพี (Scottish National Party) พรรคกรีน พรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคชาตินิยมเวลส์ (Wales’ Plaid Cymru) ได้พยายามโน้มน้าวให้พรรคแรงงานที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านร่วมกันผลักดันให้มีการจัดทำประชามติครั้งใหม่ เพื่อหยั่งเสียงกันอีกครั้ง ว่า ยังต้องการออกจากอียูหรือไม่ โดยครั้งนี้มีกลุ่มผู้นำในภาคธุรกิจ 130 ราย ร่วมจัดทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการจัดทำประชามติครั้งใหม่นี้ด้วย สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายปาสคาล ลามี อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อใหญ่อย่างซีเอ็นบีซีเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การลงประชามติครั้งที่ 2 เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจจะเป็นทางออกของสถานการณ์ที่ยุ่งยากในเวลานี้ แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่าง นายโทนี่ แบลร์, นายกอร์ดอน บราวน์ และนายจอห์น เมเจอร์ ยังร่วมเสนอความคิดเห็นว่า อาจจะต้องมีการจัดทำประชามติกันอีกครั้ง ว่า ขณะนี้ชาวอังกฤษยังต้องการจะแยกตัวออกจากอียูหรือไม่

ถ้าหากข้อตกลงเบร็กซิทที่รัฐบาลอังกฤษยื่นต่อสภาอีกครั้งในวันที่ 21 ม.ค. นี้ ยังคงไม่ผ่านการรับรอง นั่นก็หมายความว่า ทางเลือกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น การออกจากอียูในวันที่ 29 มี.ค. อย่างไม่มีเงื่อนไขข้อตกลง หรือ การขอขยายเวลาการถอนตัวออกไปหลังวันที่ 29 มี.ค. หรือ การจัดทำประชามติครั้งใหม่ ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,437 ระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว