5Gต้องใช้มาตรฐานทั่วโลก ‘TCT’แนะรัฐทดสอบก่อนให้บริการเชิงพาณิชย์

19 ม.ค. 2562 | 09:03 น.
เปิดข้อเสนอแนะ 5G ของสมาคมโทรคมฯ ชี้ควรกำหนดคลื่นความถี่ให้ชัดเจน ทดสอบก่อนให้บริการ เผยในอนาคตเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ขณะที่ “ทรู” แจ้งไม่ร่วมประมูล 700 เหตุยังไม่ได้ข้อสรุปยืดค่างวดคลื่น 900
ในขณะที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีระบบโทรศัพท์เคลื่อน ที่ 5G โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.วางโรดแมปด้วยการเวนคืนคลื่น 700 จากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลนำออกมาประมูลเพื่อให้บริการระบบ 5G

ล่าสุดที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมติที่ประชุมเห็นชอบนำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบ แทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้การประมูลเกิดขึ้นได้ภายในเดือนเมษายน แต่ไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้

แต่ปรากฏว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องของการยืด ระยะเวลาการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กลุ่มทรู จึงจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 ในครั้งนี้ จนกว่าจะมีความชัดเจน อีกทั้งปริมาณคลื่นความถี่ตํ่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ทั้ง 850 MHz และ 900 MHz ยังเพียงพอที่จะนำมาจัดสรรให้บริการ 5G โดยจะลงทุนเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้งาน และเป็นไปตามความพร้อมของตลาดอุปกรณ์ 5G ทั้งนี้กลุ่มทรูยังคงมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มกระแสเงินสดของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กำลังทดสอบการใช้งาน 5G ที่ศูนย์ทดสอบ (5G Testbed) ในพื้นที่อีอีซี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

TP10-3437-A

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ TCT ได้มีการระดมความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องได้จัดทำข้อเสนอแนะ “เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย”

ข้อเสนอแนะที่ TCT ได้นำเสนอนั้น ไล่เลียงตั้งแต่เรื่องของคลื่นความถี่ (Spectrum) ภาค รัฐควรจะจัดวางแผนและจัดทำแผนคลื่นความถี่ของชาติ (Spectrum Roadmap) ที่ชัดเจน เช่น จัดทำคลื่นความถี่เพื่อสาธารณะ คลื่นความถี่สำหรับกิจการรถไฟหรือกิจการทางราง ควรพิจารณาให้เหมาะสม เช่น ควรให้กิจการรถไฟของไทยใช้ย่านความถี่ที่รองรับเทคโนโลยี LTE-R

ส่วนความถี่ 5G เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ควรจะมีการทดลองก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในบางพื้นที่ ควรกำหนดย่านความถี่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับนานาชาติ เพื่อลดต้นทุนของผู้ใช้บริการ

ในส่วนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต้องประกอบไปด้วยระบบ Mobile Service การกระจายการให้บริการดิจิตอลแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (สายสื่อสารโทรคมนาคม) บนเสาไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการด้านบริการ OTT (Over the Top) อย่างเหมาะสมและสมดุล

อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เต็มรูปแบบในอนาคตจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ด้านการเงิน มีการนำใช้ Mobile Payment เข้ามามีบทบาทในยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) สู่แนวคิด QR Payment รวมถึงบริการกระเป๋าเงินออน ไลน์ (e-Wallet) ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมพยายามผลักดันสร้างความคุ้นเคยให้ผู้บริโภค ด้านการศึกษา มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ระยะไกล เพื่อเน้นให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ Anytime, Anywhere

ขณะที่นายสุพจน์ เธียรวุฒิ กรรมการบริหารและเลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศ ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า เป็นหน้าที่ของสมาคมที่ต้องการผลักดันให้เทคโนโลยีเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3437 ระหว่างวันที่ 20 - 23 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว