รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | "ความพ่ายแพ้" ของรัฐบาลอังกฤษ ก่อนวิกฤติ Brexit

19 ม.ค. 2562 | 04:30 น.
| คอลัมน์ : รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

| เรื่อง : "ความพ่ายแพ้" ของรัฐบาลอังกฤษ ก่อนวิกฤติ Brexit

| โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

……………….


หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศเลื่อนการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการแยกตัวจาก EU จากเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา มาเป็นวันที่ 15 ม.ค. 2562 ผลก็เป็นไปตามที่คาด คือ ข้อเสนอที่นายกรัฐมนตรี "เทเรซา เมย์" ของอังกฤษ เสนอเพื่อใช้เป็นข้อตกลงในการแยกตัวกับ EU หลังจากผ่านการเจรจามากว่า 2 ปีครึ่ง ได้พ่ายแพ้อย่างหมดรูป เพราะคะแนนที่โหวตสนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลมีเพียง 202 เสียงเท่านั้น ในขณะที่ มีผู้ลงคะแนนเสียงคัดค้านสูงถึง 432 เสียง

ที่ต้องเรียกว่า แพ้อย่างหมดรูป เพราะแม้แต่สมาชิกพรรคเดียวกันกับรัฐบาลอย่างพรรคอนุรักษนิยม ยังร่วมลงคะแนนคัดค้านข้อเสนอของพรรคตัวเองสูงถึง 118 เสียง เรียกได้ว่า งานนี้เป็นการแพ้อย่างถล่มทลายในรอบเกือบ 100 ปีของรัฐบาลอังกฤษเลยก็ว่าได้


เทเรซ่า เมย์2

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนายกฯเมย์ยังชนะผลโหวตเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่จัดขึ้นในคํ่าวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 325 ต่อ 306 เสียง จึงทำให้รัฐบาลยังมีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศและจัดการกับปัญหาเรื่อง Brexit ต่อไป

ก่อนที่จะมีเปิดให้ลงคะแนนในสภาฯ เมื่อวันที่ 15 นายกฯเมย์ได้กล่าวปราศรัย โดยได้สรุปทางออกที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลพ่ายแพ้การลงมติในครั้งนี้ไว้ทั้งหมด 4 ช่องทางด้วยกัน โดยนายกฯเมย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละช่องทางล้วนนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา และได้จบท้ายด้วยการเสนอว่า ประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดและเสียหายน้อยที่สุดหากสมาชิกสภาฯ เลือกที่จะลงมติเห็นชอบกับการแยกตัวที่มีข้อตกลงกับ EU ตามที่รัฐบาลเสนอ

แต่ผลก็เป็นอย่างที่ทราบว่า กว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาฯ ไม่เชื่อการชี้นำของนายกฯเมย์แต่อย่างใด

บทความนี้จึงมุ่งที่จะวิเคราะห์ถึงสิ่งที่นายกฯเมย์กล่าว ว่า เป็นจริงหรือไม่ และจริง ๆ แล้ว อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษควรต้องทำก่อนเป็นอย่างแรก เพื่อไม่ให้ประเทศเผชิญกับปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ

ทางออกทั้ง 4 ช่องทางที่นายกฯเมย์ได้กล่าวไว้ในสภาฯ หากรัฐบาลแพ้โหวต ประกอบไปด้วย 1.UK ไม่แยกตัวออกจาก EU 2.UK แยกตัวจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง (With No Deal) 3.รัฐบาลประกาศให้มีการลงประชามติเรื่องการแยกตัวจาก EU รอบที่ 2 และ 4.ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อหารัฐบาลที่จะมาดำเนินการกับเรื่องนี้ต่อไป

ผู้เขียนขอวิเคราะห์ทางออกที่นายกฯเมย์ยกขึ้นทีละข้อตามลำดับ ดังนี้ ทางเลือกแรก เป็นทางเลือกที่ถ้ามองในมุมทางเศรษฐกิจแล้ว อาจไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศมาก แต่หากมองทางมุมรัฐศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตย การที่รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนลงประชามติในเรื่องนี้แล้ว และปรากฏว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกที่จะแยกตัวจาก EU

ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีการดำเนินการโดยใช้ทางออกอื่น ๆ ก่อน แต่เลือกที่จะไม่แยกตัวจาก EU อันเป็นการดำเนินการขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน ถือว่ารัฐบาลและสมาชิกสภาฯ ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ประชาชนได้ออกมาแสดงเจตจำนงไว้ เรื่องนี้น่าจะเป็นการขัดกับทั้งวิถีทางประชาธิปไตยและทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของการลงประชามติหายไป ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นในการลงประชามติของประเทศในครั้งต่อ ๆ ไปด้วย เพราะประชาชนจะไม่ให้ความสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลอาจเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ประชาชนได้แสดงเจตจำนงไว้เหมือนครั้งนี้ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นจากการเห็นผลดังกล่าว ทางออกที่ 1 จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษไม่ควรทำ


ภาพประกอบบทความมาร์ค หน้า 7

ทางออกที่ 2 ถ้ารัฐบาลปล่อยให้มีการแยกตัวออกมาแบบไม่มีข้อตกลง จากผลวิจัยตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้ผลชัดเจนว่า ทางออกนี้จะนำมาซึ่งวิกฤติทางเศรษฐกิจของทั้ง UK สหภาพยุโรป และจะเป็นจุดที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ได้ ซึ่งทางเลือกนี้ ทั้งสมาชิกสภาฯ ของอังกฤษเอง โดยเฉพาะพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการเลือกทางออกนี้อย่างมาก รวมไปถึงผู้นำของสหภาพยุโรป ซึ่งได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้

เพราะการลงคะแนนในสภาฯ ของอังกฤษครั้งนี้ ทำให้ทราบผลแต่เพียงว่า สภาฯ ไม่เอาด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลเสนอ แต่ไม่มีสิ่งใดที่จะแสดงให้เห็นเลยว่า แล้วปัญหาของ UK ครั้งนี้จะแก้ไขไปในทิศทางใด เพราะเรื่องนี้ก็จะส่งผลกระทบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ EU ไม่น้อยเช่นกัน

ทางออกที่ 3 คือ การเปิดให้ประชาชนลงประชามติรอบที่ 2 เกี่ยวกับประเด็นการแยกตัวของ UK จาก EU ซึ่งทางออกนี้เป็นสิ่งที่ผมเคยเสนอไว้ในบทความเรื่อง "ผ่าทางตัน วิกฤติ Brexit" ในฉบับก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้ครั้งแรกประชาชนได้ออกมาลงประชามติในเรื่องนี้แล้วก็ตาม แต่การตัดสินใจดังกล่าวยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจที่น้อยมาก

รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย | "ผ่าทางตัน วิกฤติ Brexit"

ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมา การวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนยืนยันตรงกันว่า การที่ UK แยกตัวจาก EU จะนำมาซึ่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อประเทศ ดังนั้น เมื่อประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศทราบแล้วว่า สิ่งที่ตัวเองเคยตัดสินใจไว้นั้นกำลังจะนำพาประเทศไปสู่ภาวะวิกฤติ รัฐบาลควรจัดการด้วยวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย โดยคืนอำนาจการตัดสินใจครั้งสำคัญในเรื่องนี้กลับไปให้กับประชาชนอีกครั้ง และหากผลจะเป็นอย่างไร รัฐบาลก็ควรที่จะต้องปฏิบัติตามผลที่ได้รับแล้ว

ทางออกสุดท้าย คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถึงแม้หลายฝ่ายมองว่า น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลพ่ายแพ้โหวตอย่างถล่มทลาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือไม่ได้ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ขาดความเชื่อถือและความชอบธรรมในการบริหารจัดการประเทศ เนื่องจากผลโหวตเรื่องความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ปรากฏว่า รัฐบาลยังมีคะแนนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งอยู่ ดังนั้น ทางเลือกนี้คงมีความเป็นไปได้น้อยมาก และต่อให้เป็นไปได้ แต่สุดท้ายรัฐบาลที่จะได้รับเลือกตั้งใหม่ก็จะต้องกลับมาเผชิญหน้ากับปัญหานี้ต่ออยู่ดี จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกเช่นกัน

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า หากจะใช้ทางเลือกที่ 3 เพื่อให้มีการลงประชามติใหม่ หรือจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แบบทางเลือกที่ 4 ล้วนต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งระยะเวลาที่ UK ต้องแยกตัวจาก EU จะมีผลบังคับในวันที่ 29 มี.ค. ที่จะถึงนี้แล้ว ซึ่งเท่ากับเหลือเวลาแค่ประมาณ 70 วันเท่านั้น ในระยะเวลาอันจำกัดนี้ รัฐบาลจึงไม่สามารถจะเลือกใช้ทางออกทั้ง 2 นี้ได้เช่นกัน

ดังนั้น สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอให้รัฐบาลอังกฤษดำเนินการเป็นอย่างแรกก่อน คือ รัฐบาลอังกฤษควรรีบกลับไปเจรจากับประเทศสมาชิกสภายุโรป โดยยกประเด็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลจากการที่สภาฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงที่รัฐบาลพยายามจัดทำร่วมกับ EU มากว่า 2 ปี เพื่อใช้เป็นเหตุที่จะขอให้ 27 ประเทศสมาชิก EU ยอมที่จะขยายระยะเวลาการแยกตัวจาก EU ออกไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2020 (ค.ศ.) ซึ่งถ้าสามารถทำได้สำเร็จ รัฐบาลก็ควรจะจัดให้มีการทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อส่งคืนอำนาจการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและวิถีชีวิตรวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ไปให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวโดยตรงเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้อีกครั้ง

การดำเนินการตามที่ผมเสนอน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,437 วันที่ 20 - 23 ม.ค. 2562 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การแก้ปัญหาของสภาอังกฤษ Brexit เป็นทางตันหรือทางออก?
Plan B ของรัฐบาลอังกฤษ หลังแพ้โหวตข้อตกลง Brexit

บทความน่าสนใจ :
รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย | 'ผ่าทางตัน วิกฤติ Brexit'
รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | สภาอังกฤษเลื่อนลงมติ Brexit ลางบอกเหตุวิกฤติเศรษฐกิจโลก?

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว