ภาคปศุสัตว์ยังสดใส เล็งส่งออกปีนี้ทะลุ 2 แสนล.

16 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
ป็นที่ทราบกันดีว่า เวลานี้พืชเศรษฐกิจส่งออกหลักของไทยหลายรายการยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำตามภาวะตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับสินค้าเกษตรหมวดปศุสัตว์ที่การส่งออกยังไปได้ดี และขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในปี 2559 นี้สถานการณ์ ทิศทาง แนวโน้ม ตลอดจนปัจจัยบวก ปัจจัยลบที่เกี่ยวข้อง จะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "นสพ. อยุทธ์ หรินทรานนท์" อธิบดีกรมปศุสัตว์ ดังรายละเอียด

 เล็งเป้าส่งออก 2 แสนล.

นสพ.อยุทธ์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในปี 2559 คาดจะมีมูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ส่งออก 1.8 แสนล้านบาท มีปัจจัยด้านบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังขยายตัว แม้ล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2559 ลงจาก 3.6% เหลือ 3.4% แต่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในสินค้าปศุสัตว์ของไทย ไอเอ็มเอฟได้คาดการณ์ยังขยายตัว เช่น สหภาพยุโรปขยายตัวที่ 1.7% ญี่ปุ่นขยายตัว 1% เป็นต้น

"กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ประมาณการผลผลิตปศุสัตว์ของโลก เมื่อเดือนตุลาคม 2558 คาดการผลิตเนื้อสัตว์ของโลกในปี 2559 จะเพิ่มขึ้น 1.03% ตามความต้องการของบริโภคที่จะเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มราคาสินค้าปศุสัตว์ของโลกในปีนี้ยังมีทิศทางที่ลดลง แต่สถานการณ์ส่งออกของไทยคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 3-5 % ในสินค้าเนื้อไก่และสุกร แนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จากหลายปัจจัย เช่น นโยบายของประเทศรัสเซีย ได้งดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจากปัญหาทางการเมือง และปัญหาไข้หวัดนกในสหรัฐฯ ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปทดแทนในหลายตลาดได้"

 ไก่เนื้อส่งออกยังโต

สำหรับแนวโน้มการผลิตไก่เนื้อของไทยในปี 2559 คาดว่าจะเพิ่มจากปีที่แล้ว 1% โดยจะมีผลผลิตในปีนี้ 1.46 พันล้านตัว หรือ 28 ล้านตัว/สัปดาห์ คิดเป็นปริมาณเนื้อไก่ 2.33 ล้านตัน ซึ่งจากในปี 2558 หลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตพันธุ์สัตว์ที่สำคัญของโลกเกิดไข้หวัดนก ทำให้ไทยต้องชะลอการนำเข้าทั้งไก่ปู่ย่าพันธุ์ (G.P.) ไก่เนื้อพ่อแม่พันธุ์ (P.S.) ขณะที่ในปีที่ผ่านมาราคาไก่เนื้อในประเทศอ่อนตัวลง เนื่องจากเกษตรกรขยายการผลิตค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีเวลานี้ผู้ประกอบการและเกษตรกรหลายรายได้ขยายการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออกไก่สดไปยังประเทศเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะเปิดตลาดไก่สดแช่แข็งให้ไทยอีกครั้ง (หลังมีปัญหาไข้หวัดนกในปี 2547) ซึ่งเร็วสุดน่าจะเป็นกลางปีนี้

"อย่างไรก็ดี หากเกาหลีใต้เปิดตลาดไก่สดให้ไทยก็คาดว่าปริมาณสูงสุดที่เขาจะนำเข้าคงไม่เกินจากเดิมที่เคยนำเข้าประมาณ 4 หมื่นตันต่อปี ส่วนราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ในเวลานี้ยังไม่มีเสถียรภาพ เพราะมีปริมาณเนื้อไก่สะสม ดังนั้นในปีนี้คาดไทยจะส่งออกสินค้าไก่ (ทั้งไก่แปรรูปและไก่สดแช่แข็ง) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียง 3% คิดเป็นปริมาณ 7 แสนตัน แบ่งเป็นเนื้อไก่แปรรูป 67% เนื้อไก่สด 33% จากปี 2558 ไทยมีการส่งออกสินค้าไก่ปริมาณ 6.82 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 8.89 หมื่นล้านบาท มีตลาดหลักคือ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น"

ขณะที่แนวโน้มผลผลิตเนื้อไก่ของโลก ปี 2559 คาดจะมีปริมาณ 89 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.3% ในจำนวนนี้จะมีการส่งออกประมาณ 10.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% โดยประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น บราซิลจะขยายการผลิตและส่งออกทดแทนประเทศที่ประสบปัญหาไข้หวัดนก ขณะที่การผลิตเนื้อไก่ของไทยคิดเป็นสัดส่วน 3% ของผลผลิตของโลก และเป็นอันดับ 7 ของโลก มีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 70% และส่งออก 30% ของผลผลิต

 หมูมีอนาคตตลาดต้องการ

ส่วนสถานการณ์ผลผลิตสุกรของไทย ในปี 2558 มีทั้งหมด 16.48 ล้านตัว คิดเป็นเนื้อสุกร 2.26 ล้านตัน ผลผลิตมากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ เกษตรกรจึงได้เร่งระบายสุกรมีชีวิตส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านทดแทน ส่วนแนวโน้มปี 2559 คาดไทยจะมีปริมาณผลผลิตสุกร 17.10 ล้านตัว ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4.4% โดยประเทศไทยผลิตสุกรคิดเป็น 0.1% ของผลผลิตโลก

สำหรับผลผลิตสุกรของไทยสัดส่วน 94% เพื่อบริโภคในประเทศ และ 6% เป็นการส่งออก โดยส่งออกเป็นสุกรมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปีที่แล้วไทยส่งออกสุกรมีชีวิต 9.78 แสนตัว มูลค่า 6.67 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 130% ส่วนการส่งออกเนื้อสุกรสดและแปรรูปมีปริมาณ 1.98 หมื่นตัน ปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% โดยมีมูลค่าการส่งออก 3.56 พันล้านบาท

"แนวโน้มในปี 2559 คาดการส่งออกสุกรของไทยจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขการส่งออกเนื้อสุกรสดไปรัสเซีย และการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มราคายังทรงตัวต่อเนื่อง ขณะที่เวลานี้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในประเทศเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะปรับตัวลดลงจากปี 2558 ประมาณ 10% จากปีที่แล้วราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 68 บาท โดยรวมเกษตรกรยอมรับสภาพราคาได้จากการเพิ่มผลผลิต"

  ไข่ไก่-น้ำนมดิบขายได้ราคา

ในส่วนสินค้าไข่ไก่ คาดผลผลิตในปี 2559 จะมีประมาณ 1.55 หมื่นล้านฟอง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3% ปัจจุบันไทยมีปริมาณแม่ไก่ไข่ยืนกรงสะสม 54.70 ล้านตัว ซึ่งจากผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและสุขภาพสัตว์มีปัญหาบางส่วน การบริโภคและการตลาดส่งออกยังขยายตัว เพื่อทดแทนประเทศที่ประสบปัญหาไข้หวัดนก ความเสี่ยงจากปัญหาการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์จากต่างประเทศต้องเลื่อนระยะเวลานำเข้า อาจส่งผลให้เกษตรกรต้องยืดอายุแม่ไก่ไข่ยืนกรง ผลผลิตจะลดลง และราคาจะปรับตัวสูงขึ้น คาดการณ์ว่าปีนี้เกษตรกรจะขายไข่ไก่ได้ราคาดีขึ้น

ส่วนการผลิตน้ำนมดิบ ในปีนี้คาดจะมีปริมาณแม่โครีดนมจำนวน 2.43 แสนตัว ผลผลิตทั้งหมด 1.13 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 3% การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ของไทยในปีนี้คาดจะขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 10% เช่นเดียวกับการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะราคานมและผลิตภัณฑ์นมของโลกปรับตัวลดลง แนวโน้มราคาน้ำนมดิบที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการประกาศเงื่อนไขกำหนดคุณภาพรับซื้อระหว่างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกับเกษตรกร ปัจจัยเสี่ยงสำหรับโคนม ปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อยส่งผลกระทบต่อแม่โคนมได้รับความเสียหาย เกษตรกรไม่สามารถแก้ปัญหาได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559