กฟผ.ชงแผนนำเข้าแอลเอ็นจี ป้อนโรงไฟฟ้าในกลุ่มกระจายความเสี่ยงลดพึ่งปตท.

15 มี.ค. 2559 | 11:00 น.
กฟผ.ชงแผนนำเข้าแอลเอ็นจีป้อนโรงไฟฟ้าในกลุ่ม บริหารความเสี่ยงเอง ลดการพึ่งพาปตท.ประเดิมใช้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2.6 พันเมกะวัตต์ ขณะที่กระทรวงพลังงาน ยังไม่ไฟเขียว "อนันตพร" ตีกลับให้ไปศึกษาให้จบใน 3 เดือน เหตุมีข้อถกเถียงการเชื่อมท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 หรือกฟผ.ลงทุนทำเอง

[caption id="attachment_38033" align="aligncenter" width="364"] วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี  อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.)[/caption]

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ยื่นแผนลงทุนโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ Floating Storage Regasification Unit (FSRU) มาให้กรมพิจารณาแล้ว ซึ่งได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) รับทราบไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าท่อส่งก๊าซ FSRU ของ กฟผ. จะเชื่อมต่อท่อเข้าเฉพาะโรงไฟฟ้าพระนครใต้เท่านั้น แต่ไม่เชื่อมต่อกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งกรมเห็นว่า ควรจะต้องมีการเชื่อมต่อกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วทาง กฟผ. จะต้องลงทุนทั้งท่าเรือและท่อส่งก๊าซ ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 2 เท่าเมื่อเทียบกับเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซรวม ดังนั้นจึงให้ ปตท. และ กฟผ. ศึกษาความเหมาะสมแผนลงทุนดังกล่าว

สำหรับการศึกษาแผนลงทุน FSRU ของ กฟผ.นั้น พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ระยะเวลาศึกษา 3 เดือน จากนั้นจะนำผลสรุปนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่ทางกรมต้องการให้ระบบท่อส่งก๊าซเชื่อมต่อกัน และหากทาง กฟผ. ลงทุนดังกล่าว จะต้องปรับท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 ใหม่ อาทิ ลดขนาดท่อลง การเชื่อมต่อท่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่เพียงขั้นตอนการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการเท่านั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการแนวท่อระหว่าง FSRU และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ของ กฟผ. โดยจะมีระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร แบ่งเป็น ในทะเล 20 กิโลเมตร ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา 16.5 กิโลเมตร และบนบกก่อนเข้าโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 3.5 กิโลเมตร คาดว่าอัตราค่าบริการสถานีรวมค่าผ่านท่อประมาณ 0.5-1.20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยในขณะนี้ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และต้องการให้โครงการของ กฟผ. เชื่อมต่อท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 ของ ปตท. ด้วยตามมติของ กพช.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จและสามารถเสนอ กพช.ภายในเดือนมิถุนายนนี้

ด้านนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาการนำเข้าแอลเอ็นจีในรูป FSRU เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยเตรียมจะว่าจ้างที่ปรึกษาและกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการนำเข้าต่อไป ซึ่งด้วยศักยภาพของ กฟผ.และนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจก๊าซ ทาง กฟผ.ก็มีความพร้อมในการนำเข้าแอลเอ็นจีอยู่แล้ว ซึ่งมีการประเมินโครงการและมูลค่าลงทุนต่อไป

สำหรับเหตุผลที่ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามานั้น เนื่องจากต้องการมาป้อนความต้องการให้กับกลุ่มโรงไฟฟ้าของกฟผ.และบริษัทลูก เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือเอ็กโก้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการจัดหาก๊าซของปตท. และทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเริ่มลดลง ซึ่งในระยะแรกอาจจะนำเข้าเพื่อมาป้อนให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ก่อน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างทดแทนเครื่องที่ 1-5 กำลังการผลิต 1.3 พันเมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบในปี 2562 และทดแทนเครื่องชุดที่ 1-2 กำลังการผลิต 1.3 พันเมกะวัตต์ จะจ่ายไฟฟ้าเขาระบบในปี 2565

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559