"กลุ่มเหล็ก" ครวญ! นำเข้าพุ่ง แนะ 3 ทางออก แก้ปัญหาผลิตไม่ถึง 40%

20 ม.ค. 2562 | 03:40 น.
กลุ่มเหล็ก ส.อ.ท. แนะ 3 ทางออก แก้ปัญหาเหล็กไทยล้น หลังถูกตีตลาดจากการนำเข้า ส่วนปี 62 คาดปริมาณการบริโภคน่าจะดีขึ้น เหตุโครงสร้างพื้นฐานขับเคลื่อนได้จริง

ปี 2562 อุตสาหกรรมเหล็กกลับมาอยู่ในโหมดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นอีกปีที่คนในวงการเหล็กคาดหวังว่าจะมีการบริโภคเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่สุ่มเสี่ยงต่อการแข่งขัน ทำให้กูรูวงการเหล็กต้องออกมาชี้ทางออก ว่า จะต้องแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างไรจึงจะอยู่รอดปลอดภัยในระยะยาว

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปี 2562 เป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยง ทั้งปริมาณเหล็กในประเทศที่ล้นตลาด และยังต้องมาถูกตีตลาดโดยเหล็กนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อุตสาหกรรมเหล็กที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทยจะอยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ในระยาวนั้น จะต้องมี 3 ทางออกหลัก ที่ภาครัฐและเอกชนควรหันมาให้ความสำคัญ และถ้าร่วมกันทำ 3 ข้อนี้ได้ อุตสาหกรรมเหล็ก วัสดุก่อสร้างทั้งหมด จะได้รับอานิสงส์ ช่วยลดต้นทุนพัฒนาประเทศได้ เพราะเวลานี้เหล็กในประเทศก็ล้นตลาดอยู่จำนวนมาก ไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ เพราะมีเหล็กนำเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจำนวนมาก


TP13-3437-A

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 มีการบริโภคเหล็กภายในประเทศรวมทุกชนิด 16.1 ล้านตัน และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 17 ล้านตันเศษ เติบโตตามการขยายตัวของจีดีพี ที่ระดับ 4-5% โดยจำนวน 16.1 ล้านตัน เป็นการผลิตในประเทศราว 6.5 ล้านตัน และมาจากการนำเข้า 11.1 ล้านตัน การนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกประเภทและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเหล็กแผ่น ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยยังใช้กำลังผลิตจริงไม่ถึง 40%

ส่วนปี 2562 คาดว่าปริมาณการบริโภคเหล็กในประเทศน่าจะดี มองจากปัจจัยบวก 3 ส่วนหลัก คือ 1.จะเป็นปีที่เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น 2.คาดว่าการลงทุนในอีอีซีจะมีการเคลื่อนไหวด้านการลงทุนจริงมากขึ้น 3.เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังทรง ๆ ตัว ดูจากเศรษฐกิจในอเมริกาเป็นบวก เศรษฐกิจในยุโรปทรง ๆ ตัว และเศรษฐกิจในญี่ปุ่นยังไม่ดี ขณะที่ จีนเศรษฐกิจยังขยายตัวในอัตราเร่งที่ลดลง ส่วน "อาเซียน" ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตพอไปได้ ดังนั้น เมื่อมองโดยภาพรวมทั้งโลก เศรษฐกิจรวมน่าจะอยู่ในระดับที่ทรง ๆ ตัวอยู่

อย่างไรก็ตาม พอปริมาณการบริโภคดีขึ้น แต่ผู้ผลิตในประเทศยังมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศแค่เพียง 40% และมากกว่า 50% ยังนำเข้า ปี 2562 ราคาเหล็กและสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ คอมมอดิตี (Commodities) ลดลงตามราคานํ้ามัน โดยราคาเหล็กเฉลี่ย 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน พอราคาลง ราคาวัตถุดิบก็ลงช้า ยังคาดหวังว่า ไตรมาส 2 โอกาสทำกำไรของผู้ผลิตในประเทศน่าจะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 ที่เริ่มมองเห็นมาร์จินกับราคาขายดีขึ้น

"คาดการณ์ว่า ปี 2562 ราคาเหล็กยังอยู่ในภาวะผันผวนทั้งปี ขึ้นอยู่ที่การปรับตัวในการซื้อสินค้าและซื้อวัตถุดิบ ที่อาจไม่ต้องสต๊อกไว้หลายเดือน หรือ ซื้อเก็บไว้ ดังนั้น ภาพรวมไตรมาสแรกปีนี้ ราคาเหล็กยังทรง ๆ ตัว ส่วนไตรมาส 2 ก็จะเริ่มเห็นโอกาสมีกำไร ดูจากทิศทางที่จีนจะเลิกเก็บภาษีส่งออกเหล็กต้นนํ้ากลางปี 2562 จาก 10% เหลือ 0% ทั้งบิลเล็ต (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย) และสแลป (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กแผ่น เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น) ก็จะทำให้ราคาเหล็กกึ่งสำเร็จรูปถูกลง และทำให้ผู้ผลิตเหล็กมีต้นทุนถูกลง และจีนก็ต้องการลดแรงกดดันความขัดแย้งกรณีที่ถูกมองว่าเป็นผู้ทุ่มตลาดเหล็กในภูมิภาคนี้"

ทั้งนี้ "เหล็กต้นนํ้า" จะประกอบด้วย บิลเล็ต, สแลป "กลุ่มเหล็กกลางนํ้า" เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, เหล็กแผ่นรีดร้อน, เหล็กแผ่นรีดเย็น, เหล็กแผ่นเคลือบ ส่วน "เหล็กปลายนํ้า" เช่น เหล็กเคลือบบางส่วน, เหล็กโครงสร้าง, เหล็กลวด, เหล็กจีไอ หรือ เหล็กเคลือบสังกะสี, เหล็กจีแอล หรือ เหล็กเคลือบสังกะสีอะลูมิเนียม ที่เหลือจะจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าจากเหล็ก เช่น เหล็กโครงสร้าง และชิ้นส่วนที่ทำจากเหล็ก เป็นต้น

"ที่น่าจับตา คือ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มเหล็กปลายนํ้า เช่น เหล็กโครงสร้าง เหล็กเคลือบบางส่วนและลวดเหล็ก เหล็กจีไอ เหล็กจีแอล และสินค้าจากเหล็ก เช่น เหล็กโครงสร้าง, ชิ้นส่วนที่ทำจากเหล็ก ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะเดิมทีไม่คิดว่ากลุ่มเหล็กปลายนํ้าจะได้รับผลกระทบด้วย และคาดการณ์ว่า ปีนี้ถ้าไม่มีเหตุอะไรฉุกเฉินทางการเมือง คาดว่าการบริโภคเหล็กน่าจะทะลุ 18 ล้านตันต่อปี"

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,437 วันที่ 20-23 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว