กนอ.โรดโชว์ดึงทุนยางตปท. กล่อมกว่า 12 ราย หลังสิทธิประโยชน์มาเลเซียหมด

16 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
กนอ.เดินสายโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติ ป้อนนิคมฯยางพาราภาคใต้ วางประเทศเป้าหมายมาเลเซีย จีน และญี่ปุ่นดึงผู้ประกอบการ 70 รายลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท ขณะที่ "อรรชกา" กล่อมนักลงทุนจากมาเลเซีย 12 ราย และองค์กรรัฐ ให้เข้ามาลงทุนมีให้เลือกทั้งรับเบอร์ซิตี้และแบบคลัสเตอร์ ยันมีโอกาสดึงมาลงทุนได้สูง หลังสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของมาเลเซียหมดลง

[caption id="attachment_38054" align="aligncenter" width="700"] บริษัทจากมาเลเซียที่มีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมยาง บริษัทจากมาเลเซียที่มีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมยาง[/caption]

ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 12 มีนาคมนี้ ทางคณะนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางจำนวน 12 บริษัท และ 2 องค์กร จากประเทศมาเลเซีย (ดูตารางประกอบ) นำโดยดาโต๊ะ ดร.ออง เอง ลอง ประธานสมาคมผู้ผลิตภัณฑ์ยางพารามาเลเซียจะเข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาหรือโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้โอกาสนี้ ในการชี้แจงนโยบายด้านส่งเสริมการลงทุนให้กับคณะนักลงทุนจากมาเลเซียเข้าใจ เพื่อที่จะเชิญชวนมาลงทุน โดยเฉพาะการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ในกลุ่มเกษตรแปรรูป ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันในการให้สิทธิประโยชน์อย่างสูงสุดในเวลานี้

ขณะที่ทางกอน.จะมีการนำเสนอแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพาราหรือรับเบอร์ซิตี้ ให้นักลงทุนมาเลเซียควบคู่ไปด้วย ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนดังกล่าวจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราได้อีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากมาเลเซียเอง เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยางรายใหญ่ของโลก ประกอบกับขณะนี้เอง การส่งเสริมการลงทุนหรือการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนของมาเลเซียเองได้สิ้นสุดลง ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศจำเป็นต้องมองหาลู่ทางการลงทุนในประเทศใหม่ๆ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา ทางกอน.ยังได้มีแผนที่จะเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย โดยในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ จะมีการเดินสายโรดโชว์ไปยังเมืองซิงเต่า มณฑลซานตงของจีน เพื่อทำการลงนามความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการยางของจีนมาลงทุนในนิคมยางพาราระหว่างกนอ.กับสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราจีน และหลังจากนั้นจะไปโรดโชว์ในประเทศญี่ปุ่นด้วย

ดร.วีรพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนานิคมยางพารา ที่สงขลานั้น ขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในวงเงิน 1.449 พันล้านบาท ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีได้เข้ามาเช่าโรงงาน รองรับได้ประมาณ 25-30 ราย มีขนาดพื้นที่โรงงานละ 500-750 ตารางเมตร ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจแล้ว 12 ราย

ทั้งนี้ รูปแบบการเข้ามาลงทุนจะมีทั้งการขายพื้นที่และให้เช่าโรงงาน ซึ่งการขายที่ดินจะอยู่ในอัตรา 2.9-3.5 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเริ่มเข้ามาก่อสร้างโรงงานได้ในเดือนกันยายน 2559 นี้ และจะเริ่มประกอบการได้ภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 455 ไร่ จะดำเนินการพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยกนอ.คาดว่าในพื้นที่ทั้งหมดจะสามารถรองรับโรงงานได้กว่า 70 โรงงานภายในระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท และมีการใช้ยางพาราไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นตันต่อปี

ส่วนสิทธิพิเศษที่นักลงทุนจะได้รับนั้น นอกจากสิทธิประโยชน์สูงสุด จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และลดหย่อนได้อีก 5 ปีนั้น แล้ว ยังมีส่วนเพิ่มเติมในส่วนของการซื้อที่ดินแปลงแรกจะได้ส่วนลด 15% แปลงต่อไปได้ส่วนลด 20% หากเป็นการเช่าโรงงานจะฟรีค่าเช่า 3 ปี และหากเช่าเป็นโรงงานผลิตคอมปาวด์จะฟรีค่าเช่า 5 ปี เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559