อีซีบีอัดแพ็กเกจกระตุ้นเงินเฟ้อ ขยายขนาดคิวอีพร้อมลดดอกเบี้ยหนุนแบงก์ปล่อยกู้

14 มี.ค. 2559 | 12:00 น.
อีซีบีตัดสินใจขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมและเพิ่มขนาดการซื้อพันธบัตร หลังแนวโน้มเงินเฟ้อน่าผิดหวัง ขณะที่ประธานอีซีบีส่งสัญญาณอาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก

นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี กล่าวภายหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายของอีซีบีในวันพุธและพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9-10 มี.ค.) ว่า อีซีบีได้นำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้เป็นจำนวนมาก และแต่ละมาตรการมีนัยสำคัญและถูกออกแบบมาเพื่อส่งผลสูงสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ "เราแสดงให้เห็นแล้วว่าเรามีกระสุนเพียงพอ"

ที่ประชุมอีซีบีตัดสินใจขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมครั้งล่าสุด โดยมีการเพิ่มมูลค่าการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) จากเดิม 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนเป็น 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และกล่าวว่าจะเริ่มซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการดังกล่าวด้วย พร้อมกันนี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.05% เหลือ 0% ลดดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนจาก -0.3% เป็น -0.4% และลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับธนาคารพาณิชย์ใช้ในการกู้เงินข้ามคืนกับอีซีบีจาก 0.3% เหลือ 0.25%

นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซน อีซีบียังประกาศโครงการเงินกู้ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 4 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยในช่วงแรกธนาคารจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในการกู้เงินจากอีซีบี และเมื่อธนาคารสามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่อีซีบีกำหนด อีซีบีจะจ่ายเงินคืนให้ในอัตรา 0.4% ต่อปี

นายดรากีกล่าวด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำมากเป็นระยะเวลานาน และจะคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปหลังจากมาตรการซื้อพันธบัตรสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี นายดรากีกล่าวว่า "จากมุมมองในเวลานี้ เราไม่คาดหมายว่าจะมีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยลงอีก แต่แน่นอนว่าข้อมูลใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์และแนวโน้ม"

นักลงทุนขานรับมาตรการล่าสุดของอีซีบีทันทีที่มีการประกาศออกมา ซึ่งมีมากกว่าที่ตลาดคาดหมายเอาไว้ อย่างไรก็ดี ได้แสดงความผิดหวังหลังจากนายดรากีส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม อีกทั้งเปิดเผยว่าจะไม่มีการนำนโยบายดอกเบี้ยหลายระดับมาใช้ โดยนโยบายดังกล่าวซึ่งมีใช้อยู่แล้วในสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจและลงโทษธนาคารที่เก็บเงินสดไว้กับตัวมากเกินไป

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนที่อีซีบีขยายการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีซีบีนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ มาใช้เพื่อพยายามดันเงินเฟ้อในภูมิภาคยูโรโซนให้กลับคืนสู่ระดับเป้าหมายใกล้เคียง 2% อย่างไรก็ดี ความพยายามของอีซีบียังไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมากมาเป็นเวลานาน ท่ามกลางปัญหาการลงทุนที่อ่อนแอ อัตราว่างงานสูง ภาระหนี้สินระดับสูง และเศรษฐกิจที่ทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ

เงินเฟ้อในยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์ปรับลดลงสู่ระดับติดลบอีกครั้ง และนายดรากีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางการอีซีบีได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ลงเหลือเพียง 0.1% จากเดิม 1% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม หลังจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในปี 2560 และ 1.6% ในปี 2561 ซึ่งหมายความว่าเงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมายต่อไปอีกหลายปี ทั้งนี้ เงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ในระดับใกล้เคียงเป้าหมาย 2% ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของอีซีบียังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจภายในภูมิภาคลง สะท้อนถึงความอ่อนแอของแนวโน้มเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยอีซีบีคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะขยายตัว 1.4% ในปีนี้ ลดลงจาก 1.7% ที่คาดการณ์ไว้เดิม ส่วนปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.7%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้อีซีบีจะปฏิเสธความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่อีซีบียังมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ อยู่ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มมูลค่าการซื้อพันธบัตรหรือขยายเวลาการซื้อพันธบัตรออกไปจากกำหนดเดิม คือเดือนมีนาคม 2560 "เราเชื่อว่างานของอีซีบียังไม่จบ" โจนาธาน ลอยน์ส นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อีโนโคนิกส์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559