การคมนาคมระบบรางกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค

16 มี.ค. 2559 | 04:00 น.
แม้ยูนนานจะเป็นมณฑลภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่คุนหมิงซึ่งเป็นเมืองเอกของยูนนานกลับมีบทบาทสำคัญในฐานะประตูเชื่อมจีนตอนในกับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ เนื่องจากความโดดเด่นด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และระบบราง

[caption id="attachment_38060" align="aligncenter" width="500"] จุดผ่านแดนสำหรับประชาชนด่านหอโข่ว จุดผ่านแดนสำหรับประชาชนด่านหอโข่ว[/caption]

เส้นทางถนน R3A เริ่มต้นจากคุนหมิงไปสิ้นสุดยังกรุงเทพมหานคร โดยชายแดนยูนนานกับชายแดนไทยที่จังหวัดเชียงรายมีระยะห่าง 247 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์เพียง 4 ชั่วโมง แม่น้ำโขงมีสมญานามว่า “แม่น้ำนานาชาติ” ไหลออกจากยูนนาน ผ่านเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในอนุภูมิภาคมาแต่โบราณ และท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยคุนหมิงเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากท่าอากาศยานปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว

สำหรับการคมนาคมระบบราง คุนหมิงถือเป็นศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟแพนเอเชีย 4 สาย ได้แก่ จีน-เวียดนาม จีน-ลาว-ไทย จีน-เมียนมา และจีน-เมียนมา-อินเดีย ทั้งนี้ ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของยูนนานเป็นภูเขาสลับหุบเขา ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ แต่รัฐบาลยูนนานก็ทุ่มงบประมาณมหาศาลถึง 1 แสนล้านหยวนระหว่างปี 2556-2558 เพื่อโครงการนี้ โดยสิ้นปี 2558 ยูนนานมีเส้นทางรถไฟที่ก่อสร้างแล้วเสร็จคิดเป็นระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร

ในระหว่างที่รัฐบาลจีนกำลังเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการสร้างเส้นทางรถไฟในประเทศนั้นๆ ยูนนานก็เร่งสร้างเส้นทางรถไฟจากนครคุนหมิงไปจ่อยังชายแดนของตนเองเพื่อรอเชื่อมต่อกัน ตัวอย่างเช่น เส้นทางรถไฟเมิ่งจื้อ-เหอโข่วซึ่งเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ทำให้เส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากคุนหมิงสามารถเชื่อมถึงด่านเหอโข่ว(ชายแดนยูนนาน-เวียดนาม)ได้อย่างสมบูรณ์

เส้นทางรถไฟเมิ่งจื้อ-เหอโข่วเปิดให้บริการครบรอบ 1 ปีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 โดยมีผู้โดยสารประมาณ 8 แสนคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวจีน-เวียดนาม แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์จีน-เวียดนามที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้เดินทางผ่านเข้า-ออกด่านเหอโข่วได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3.32 ล้านคนในปี 2554 เหลือ 3.01 ล้านคนในปี 2557 โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัญหาความขัดแย้งในประเด็นทะเลจีนใต้ระหว่างจีน-เวียดนาม แต่ภายหลังจากที่มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟเมิ่งจื้อ-เหอโข่ว พบว่าปี 2558 จำนวนผู้เดินทางผ่านเข้า-ออกด่านเหอโข่วเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีโดยมีปริมาณ 3.65 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็นอัตรา 21.2% ทั้งยังช่วยให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางผ่านด่านเหอโข่วทะลุหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกด้วยมูลค่า 1,377 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ในอัตรา 53.2%

สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้น ปรากฏว่า ในเทศกาลตรุษจีนปี 2559 เขตหงเหอ(ที่ตั้งของเส้นทางรถไฟเมิ่งจื้อ-เหอโข่วและด่านเหอโข่ว) มีจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของยูนนาน เริ่มแซงเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของยูนนาน เช่น ต้าหลี่ ลี่เจียง และสิบสองปันนา

ส่วนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ยูนนานกำลังเร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟคุนหมิง-บ่อหาน (ชายแดนยูนนาน-ลาว) โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงคุนหมิง-ยวี่ซี ระยะทาง 110 กิโลเมตร ขยายรถไฟรางเดี่ยวเป็นรางคู่ คาดว่าจะเปิดใช้ได้ภายในสิ้นปี 2559 และช่วงยวี่ซี-บ่อหาน ระยะทาง 507 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ทั้งนี้ ช่วงยวี่ซี-จิ่งหง ระยะทาง 364 กิโลเมตร เป็นรถไฟรางคู่ และช่วงจิ่งหง-บ่อหาน ระยะทาง 143 กิโลเมตร เป็นรถไฟรางเดี่ยว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 ส่วนเส้นทางรถไฟช่วงภายในลาว จากด่านบ่อเต็น (ชายแดนยูนนาน-ลาว) ถึงเวียงจันทน์ (ชายแดนลาว-ไทย) ระยะทาง 442 กิโลเมตร ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 และช่วงภายในประเทศไทย ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 เช่นกัน

จากกรณีภาพยนตร์ Lost in Thailand ที่ได้จุดกระแสนิยมเที่ยวไทยในหมู่ชาวจีน ทำให้ท่าอากาศยานและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทยแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยวจีน และหลังเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ทำให้การเดินทางโดยรถยนต์บนเส้นทาง R3A มีความสะดวกมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนจึงนิยมขับรถยนต์ส่วนตัวมาเที่ยวภาคเหนือของไทย เมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย เปิดใช้งาน ภาคอีสานก็อาจกลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้เช่นกัน ดังนั้น ในระหว่างนี้ ฝ่ายไทยจึงควรพิจารณาวางแผนระยะยาวในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยโดยรถไฟ เพื่อรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวของไทย และรักษาตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างยั่งยืน

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้า-การลงทุน และความเคลื่อนไหวล่าสุดของเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน http://www.thaibizchina.com

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559