กรมบังคับคดีโชว์ผลงาน! ไตรมาสแรกปีงบฯ 62 ยอดระบายทรัพย์กว่า 4.62 หมื่นล้าน

17 ม.ค. 2562 | 09:35 น.
กรมบังคับคดีแถลงผลงานไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งสามารถเร่งผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบได้กว่า 46.27 หมื่นล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณปีก่อน 44.59% และสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีสำเร็จมากกว่า 5,000 ราย สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน 88.09% โดยมีทุนทรัพย์กว่า 2,000 ล้านบาท

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ได้แถลงผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามนโยบายกรมบังคับคดีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศใน 5 ด้าน (LED 5 Excellence) ได้แก่ การบริหารจัดการคดี (Case Management Excellence) การพัฒนานวัตกรรม และระบบการทำงาน (IT Excellence) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Information Excellence) การเพิ่มศักยภาพบุคลากร (HR Excellence) และการยกระดับองค์กร (Organization Excellence) เพื่อพัฒนาไปสู่ LED - Thailand 4.0 โดยมีผลการดำเนินงานหลัก ๆ ดังนี้

 

[caption id="attachment_375970" align="aligncenter" width="503"] รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี[/caption]

1.การเร่งผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบ ตามที่ได้กำหนดค่าเป้าหมายในการผลักดันทรัพย์สินในปีงบประมาณ 2562 ไว้สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา จำนวนถึง 1.3 แสนล้านบาท ในไตรมาสแรกนี้สามารถผลักดันทรัพย์สินได้เป็นเงินจำนวน 46,274,145,932 บาท คิดเป็น 35.60% ของเป้าหมาย และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงกว่า คิดเป็น 44.59% โดยผลของการขายทอดตลาด การงดการบังคับคดี และการถอนการบังคับคดีของไตรมาสแรกปี 2562 สูงกว่า ปี 2561 คิดเป็น 50.89%, 72.90% และ 30.21% ตามลำดับ อันเป็นผลเนื่องมากจากการทำงานเชิงรุกทั่วประเทศและขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างยิ่งขึ้น

2.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินการไกล่เกลี่ย "เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม" มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ยจำนวน 5,847 เรื่อง และสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,257 เรื่อง คิดเป็น 89.91% ของเรื่องที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ย ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จสูงกว่าคิดเป็น 88.09% และทุนทรัพย์ไกล่เกลี่ยสำเร็จสูงกว่า ปี 2561 คิดเป็น 96.87% โดยได้ทำการไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือน หนี้รายย่อยต่าง ๆ และหนี้ ก.ย.ศ. เป็นต้น โดยในเดือน ธ.ค. 2561 กรมบังคับคดีร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ก.ย.ศ.) จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีหนี้ ก.ย.ศ. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีลูกหนี้ ก.ย.ศ. เข้าร่วมมหกรรมจำนวนทั้งสิ้น 7,329 ราย ซึ่งผู้บริหาร ก.ย.ศ. ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ย.ศ. ให้กับลูกหนี้ ก.ย.ศ. ทราบ อันเป็นการสร้างความรับรู้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน และได้มีการลงทะเบียนผู้สนใจทำงานสำนักงานแรงงานจังหวัดและผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่

3.การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในการบังคับคดีแพ่งและบังคับคดีล้มละลาย ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 กรมบังคับคดีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่

3.1 บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
3.2 บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
3.3 ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
3.4 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

และ 3.5 กรมที่ดิน และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีกับผู้กระทำความผิดกับสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)


4.การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 Mr.Zhao Dacheng รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมและศึกษาดูงานด้านการบังคับคดีและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี การนำด้านเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานและได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางในการปฏิบัติงาน

5.การพัฒนาทักษะดิจิทัล กรมบังคับคดีได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรนำด้านทักษะดิจิทัล สืบเนื่องจาก อ.ก.พ.วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการ ได้พิจารณาคัดเลือกให้กรมบังคับคดี เป็นหน่วยงานนำรองการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2561 นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้เยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของกรมบังคับคดี และเข้าเยี่ยมชม
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกรมบังคับคดี

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการอีกหลายแห่งได้เข้าศึกษาดูงานด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และการสร้างองค์กรดิจิทัล ได้แก่ คณะผู้เข้ารับการอบรม นักบริหารงานยุติธรรม หลักสูตร "อัยการจังหวัด" รุ่นที่ 38 จากสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด และหลักสูตรนักบริหารระดับต้น รุ่นที่ 11 ของกรมชลประทาน สำหรับโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง "การบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล" กรมบังคับคดีได้ร่วมกับศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำกับดูแลและการบังคับคดีสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมเรื่องการยึดและอายัดสินทรัพย์ดิจิทัล การเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล และการจำหน่ายสินทรัพย์ตามคำพิพากษา โดยมีการศึกษากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนนาดาเปรียบเทียบ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแนวการบังคับคดีให้ทันต่อยุคของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาวิจัยฉบับแรกในเรื่องนี้ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมระหว่างประเทศที่กรมบังคับคดีจะจัดในระหว่างวันที่ 19-22 มี.ค. 2562 ภายใต้โครงการการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับคดีในยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (International Conference "Civil Enforcement Judgment under a disruptive technology") เพื่อเผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ต่อไป


161600

นอกจากนี้ การจัดทำโครงการ Smart LED HACKATHON 2018 ในหัวข้อ Simply & Easy Access : Assets Information ด้วยกิจกรรมประกวดและนำเสนอผลงานการพัฒนานวัตกรรมด้านการบังคับคดี มีการประกวดและนำเสนอผลงานการพัฒนาด้านการบังคับคดี เพื่อนำแนวคิดมาปรับปรุงการนำเสนอข้อมูลทรัพย์รอการขาย เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการแก่ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก อันจะเป็นการช่วยให้ประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประกวดผลงานจำนวน 12 ทีม 29 คน และผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Next-in รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม BEARYOUGO รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Psycho-Tech


6.การพัฒนากระบวนการทำงาน กรมบังคับคดีได้เริ่มดำเนินการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์รับ–ส่ง หนังสือราชการภายในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 – 28 ธ.ค. 2561 ส่งผลให้กรมบังคับคดีสามารถลดการใช้กระดาษได้ไม่น้อยกว่า 9,084 แผ่น เป็นการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้ "LED 4.0 & Go green" เพื่อก้าวไปสู่องค์กร Paperless ในทุกระบวนงานในวันที่ 1 ต.ค. 2562

7.การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมายใหม่ ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับทางปกครอง) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการบังคับทางปกครองให้ชัดเจน มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยิ่งขึ้น และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติในวาระแรก เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งกำหนดมอบภารกิจใหม่ให้กับกรมบังคับคดี ในการบังคับคดีตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนั้น กรมบังคับคดีจำเป็นต้องหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว


บาร์ไลน์ฐาน