‘อาจารย์ป๋วย’ ต้นแบบธรรมาภิบาล ในสายตา‘ดร.วิรไท’นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง

15 มี.ค. 2559 | 13:00 น.
เป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกวาระหนึ่ง ที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ละคนมารวมตัวกันในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก พร้อมมอบรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นประจำปี 2559 โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานคณะกรรมการจัดงานเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังจากนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นลูกศิษย์สายตรง ศ.ดร.ป๋วย ทั้งอดีตและปัจจุบันที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจ ต่างสลับกันย้อนรำลึกถึงอาจารย์ป๋วย ปูชนียบุคคลด้วยความภาคภูมิใจ มีรายละเอียดดังนี้

[caption id="attachment_38020" align="aligncenter" width="343"] ดร.วิรไท สันติประภพ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

 ความรักและศรัทธาในมิติต่างๆ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวปัจฉิมกถาในหัวข้อ "อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสายตาคนรุ่นหลัง" โดยมีรายละเอียดดังนี้ ตลอดวันนี้ท่านผู้ใหญ่หลายท่านได้พูดถึงอาจารย์ป๋วยด้วยความเคารพรักและศรัทธาในมิติต่างๆ ทั้งบทบาทด้านการศึกษา การพัฒนาชนบท การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและบทบาทในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับผมแล้ว ผมไม่เคยได้พบกับอาจารย์ป๋วย ไม่มีโอกาสได้เรียนหรือทำงานกับท่าน แต่ผมถือว่าผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดี ที่ได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากงานที่ท่านอาจารย์ป๋วยได้วางรากฐานไว้ ครูบาอาจารย์ของผมหลายท่านที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นนักเรียนที่อาจารย์ป๋วยได้หาทางสนับสนุนให้ไปเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาเอก แล้วกลับมาสร้างคณะให้มีความเข้มแข็งจนเป็นที่ยอมรับของแวดวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ถ่ายทอดแนวคิดวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอาจารย์ป๋วย ให้แก่นักศึกษารุ่นหลังๆ

นอกจากนี้ ผมยังได้รับประโยชน์จากโอกาสที่ได้เข้ามาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านผู้ว่าการป๋วยได้วางรากฐานไว้อย่างมั่นคง ทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ กรอบกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด คือ มาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม

 มิตินักเศรษฐศาสตร์

ดร.วิรไทระบุว่า มิติแรกในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่มีโอกาสเข้ามาบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ในประเด็นแรก คือ ความจำเป็นของการสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจในสายตาของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะธนาคารกลางเท่านั้น แต่รวมถึงหน่วยงานหลักของรัฐอีกหลายหน่วยงาน ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราได้ยินเสียงบ่นบ่อยครั้งว่า หน่วยงานของรัฐไม่สามารถต้านทานอำนาจทางการเมืองที่มุ่งทำนโยบายประชานิยมที่ไม่ถูกไม่ควร หรือมุ่งทำแต่นโยบายแก้ปัญหาระยะสั้นซึ่งเป็นปลายเหตุ ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่สามารถช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศได้ในระยะยาว ทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการเติบโตต่ำลงต่อเนื่อง โดยยังมองไม่เห็นทางออกจากกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap ประชาชนมีหนี้สินในระดับสูง ขณะที่รายได้ยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างเท่าทัน ถ้าหากเศรษฐกิจไทยยังคงเดินต่อไปในลักษณะนี้ และไม่มุ่งแก้ไขที่ต้นเหตุ คนไทยจะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน และเราอาจจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ได้ในอนาคต

ช่วงเวลาที่อาจารย์ป๋วยดำรงตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจนั้น ท่านยืนหยัดบนหลักการของความถูกต้อง กล้าหาญที่จะให้ความเห็นขัดแย้งหรือไม่ยอมทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมือง

 ความน่าเชื่อถือคือหัวใจ

"หลักการธนาคารกลางก็เช่นเดียวกับหลักการธนาคารทั่วๆ ไป คือ เครดิต และ Faith คือความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกัน ทั้งภายในและภายนอก ถ้าขาดเครดิตแล้ว เลิกพูดเรื่องการธนาคารได้"

ในระยะข้างหน้านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐด้านเศรษฐกิจจะต้องเร่งสร้างเครดิตและ Faith หรือศรัทธา

ประเด็นที่ 2 ในมิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ การสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากภายนอกประเทศ ในสมัยที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธปท. ท่านเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนผลักดันความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนนำไปสู่การจัดตั้ง SEACEN หรือ South East Asian Central Banks ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันและกันสร้างประโยชน์ในการต่อรองประเด็นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเวทีโลก ซึ่ง SEACEN Centre จะได้ร่วมเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลของอาจารย์ป๋วยในวันที่ 14 มีนาคมนี้ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง "Central Bank Cooperation and Mandates" มีผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งปัจจุบันและอดีตจำนวนมากตอบรับที่จะไปร่วมงานด้วยความศรัทธา

ประเด็นที่ 3 ในมิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ การสร้างความสมดุลและให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในสภาวะปัจจุบันที่ความผันผวนจากภายนอกประเทศเกิดถี่ขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น การสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันสำคัญมากขึ้น ช่วงเวลา 12 ปีที่อาจารย์ป๋วย เป็นผู้ว่าการธปท. ท่านได้บริหารเศรษฐกิจมหภาคด้วยความระมัดระวัง มีจุดมุ่งหมายให้ประเทศพัฒนาได้อย่างมีเสถียรภาพ ค่าเงินบาทไม่ผันผวน เงินไม่เฟ้อ หรือฝืดเคือง ธปท.รักษาปริมาณเงินให้เป็นไปโดยสมดุล สัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 สร้างคนรุ่นใหม่มีความรู้เท่ากันโลก

ประเด็นที่ 4 มิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ ต้องพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน หรือ Inclusive Growth การบริหารเศรษฐกิจมหภาคของท่านจึงไม่ได้มองแค่มิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นักเศรษฐศาสตร์ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องสังคมด้วยซึ่งยังคงเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังคำกล่าวของท่านในหลายครั้งว่า "บ้านเมืองซึ่งชนบทเจริญขึ้น จะมีความสงบสุขได้ดีกว่า บ้านเมืองอันเต็มไปด้วยชนบทที่ยากจน"

ประเด็นนี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในโลกปัจจุบันที่พัฒนาการด้านต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญไม่ได้มีเฉพาะเรื่องรายได้เท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงความเหลื่อมล้ำในโอกาสในการได้รับความรู้และโอกาสในการยกระดับศักยภาพและความสามารถของคนในสังคมอีกด้วย

ประเด็นสุดท้ายในมิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ อาจารย์ป๋วยให้ความสำคัญต่อการมองไกลไปในอนาคต ความท้าทายที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนคนไทย ก็คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราจะต้องมองไกล โดยเฉพาะการวางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศให้มีความต่อเนื่องและชัดเจน ต้องเน้นการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ และระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีคุณธรรม จริยธรรมเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วย

สำหรับมิติที่ 2 คือ มิติที่มองจากฐานะของคนไทยรุ่นหลังที่อยากจะเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนา ซึ่งในทรรศนะของอาจารย์ป๋วยนั้นท่านเห็นว่า

"สังคมอันพึงปรารถนาที่เราวางเป้าหมายที่จะดำเนินการให้เป็นสังคมที่น่าอยู่นั้นต้องมีหลัก 4 ประการ คือ (1) สมรรถภาพ (2) เสรีภาพ (3) ความยุติธรรม (4) ความเมตตากรุณา การช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน"

 ปลุกฝัง "คนใน" ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

แนวทางที่จะขับเคลื่อนให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนาได้ในอย่างน้อย 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก คือท่านเป็นตัวอย่างของการสร้างความสุขจากภายใน (วิถีชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สะสมความรู้ ความดี โดยไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุนิยมหรือลาภ ยศ สรรเสริญ) เป็นสิ่งที่สังคมไทยยุคปัจจุบันขาดมาก ถ้าคนไทยเห็นความสำคัญจะทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันในใจต่อสู้กับโลกปัจจุบันที่มีสิ่งเร้าจากภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้สังคมไทยจะสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ไม่ยาก

ประเด็นที่ 2 ในมุมมองของคนไทยรุ่นหลัง คือ การที่คนไทยต้องคำนึงถึงสังคมให้มากขึ้น ในยุคปัจจุบันคนไทยมีความสนใจในสังคมรอบตัวน้อยลง โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ หรือคนใน Generation Me ที่คำนึงถึงตัวเองหรือโทรศัพท์มือถือของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องจิตอาสานี้เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน ที่ต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมจิตอาสาให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกสถาบัน ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันทางสังคม จนถึงสถาบันที่ทำงาน โดยต้องร่วมกันส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่เห็นประโยชน์ของความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากการอยู่ร่วมกัน มองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างพฤติกรรมของตนเองกับสังคม ไม่ใช่แข่งขันกันหรือมุ่งหาเฉพาะประโยชน์ส่วนตนในระยะสั้นเท่านั้น

โดยเฉพาะเน้นเรื่องคุณธรรมความดีที่เป็นสากล คือ การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริต และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยในช่วงที่ท่านเป็นผู้ว่าธปท.ท่านเน้นย้ำว่าธนาคารพาณิชย์ต้องมีธรรมาภิบาลที่สูงกว่าองค์กรอื่นๆ เพราะใช้เงินฝากและเงินทุนของประชาชนมาทำธุรกิจ

นอกจากนี้เรื่องคุณธรรมยังสามารถใช้ได้กับแนวคิดการทำธุรกิจสมัยใหม่ที่ต้องเน้นธรรมาภิบาลและความยั่งยืน การที่ธุรกิจหยุดเอาเปรียบผู้บริโภคและสังคมนั้น อาจจะไม่พอ เพราะธุรกิจพึงมีหน้าที่ที่ต้องช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมด้วย แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว แต่หลักคิดและหลักการใช้ชีวิตของอาจารย์ป๋วย ยังเป็นหลักที่สำคัญของการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน เป็นหลักที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ทำให้ชีวิตของเราทุกข์มากขึ้น และต้องแข่งขันกันมากขึ้นจนลืมนึกถึงคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวในสังคม

มองไปข้างหน้าแม้สังคมไทยอาจจะหาปูชนียบุคคลที่มีมาตรฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรม ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยดีขึ้นแบบอาจารย์ป๋วยได้ยากขึ้น แต่ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าคนไทยรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้และนำเอาหลักคิด หลักการใช้ชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาถือปฏิบัติแล้ว เราจะเกิดแรงบันดาลใจ และเห็นแนวทางที่จะช่วยกันทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559