"ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง" จ่อคว้างานก่อสร้าง "รถไฟไทย-จีน" ตอนที่ 2 ค่า 3 พันล้าน

16 ม.ค. 2562 | 14:24 น.
กลุ่ม "ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง" คว้างานก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ตอนที่ 2 ระยะทาง 11 กิโลเมตร เสนอราคาต่ำสุดวงเงิน 3,100 ล้านบาท หลังคณะกรรมการพิจารณาซองเทคนิคแล้วเสร็จ ร.ฟ.ท. เร่งชงบอร์ดเห็นชอบ ก.พ. นี้ ก่อนลงนามสัญญาภายใน มี.ค. 62

แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ม.ค. 2562 คณะกรรมการจัดประกวดราคาโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 2-1 (งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว-กุดจิก) ระยะทาง 11 กิโลเมตร ราคากลาง 3,350 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ที่กรมบัญชีกลางกำหนด โดยมี นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ ร.ฟ.ท. เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาซองเทคนิคเรียบร้อยแล้ว โดยพบว่า บริษัท ซีวิล เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดของการประมูลในครั้งนี้

"หลังจากนี้ ร.ฟ.ท. จะเร่งนำรายชื่อเข้าเสนอการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ภายในเดือน ก.พ. นี้ หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน มี.ค. 2562 และเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ต่อไป"

สำหรับการประมูลในครั้งนี้ พบว่า มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ จำนวน 4 ราย คือ 1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, 2.บจ.ซีวิล เอนจิเนียริ่ง, 3.หจก.บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง และ 4.กลุ่ม KTE จอยต์เวนเจอร์ โดยการพิจารณาซองเทคนิคมีผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ บจ.ซีวิล เอนจิเนียริ่ง ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 7% (ประมาณ 3,100 กว่าล้านบาท) ในส่วนการประมูลก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ตอนที่ 3, 4 อีก 12 สัญญา รวมระยะทางที่เหลือ 238 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าในเดือน ม.ค. 2562 จะประกาศรับฟังความเห็นเอกสารประกวดราคาก่อน จำนวน 5 สัญญา และเดือน ก.พ. 2562 ประมูลอีก 7 สัญญาที่เหลือ เช่นเดียวกับสัญญา 2.3 (สัญญาการวางรางและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) สามารถลงนามสัญญาได้ภายในวันที่ 27 ม.ค. - 1 ก.พ. 2562 ที่กำหนดลงนามร่วมกันในการประชุม ครั้งที่ 27 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยรูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1.ทางรถไฟระยะทาง 11 กม. แบ่งเป็น 1.การก่อสร้างเสริมคันทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง 7 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 4 กม. งานก่อสร้างทางลอดท่อเหลี่ยม, งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทางย่านสถานีโคกสะอาดและงานก่อสร้างชานชาลาชั่วคราวที่สถานีโคกสะอาด, 2.ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Station Yard) 1 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ หอพัก ที่ล้างรถ เป็นต้น และ 3.งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และงานอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงการ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 179,412 ล้านบาท โดยกรอบวงเงินของช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. เดิมวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ ราคากลางประกาศอยู่ที่ 3,350 ล้านบาท พบว่า เสนอราคาต่ำสุด 3,100 ล้านบาท

สำหรับแผนการก่อสร้างเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางกว่า 300 กม. นั้น โดยหลักการฝ่ายไทยจะออกแบบรายละเอียดเอง ส่วนฝ่ายจีนเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากใช้เทคโนโลยีจีนและมีส่วนเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ไปยังจีน ซึ่งตั้งเป้าจะศึกษาออกแบบให้เสร็จอย่างเร็วในปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 โดยเห็นชอบให้ฝ่ายไทยทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียดใช้งบประมาณ จำนวน 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ฝ่ายจีนต้องการเร่งเฟส 2 ให้ทันกับเฟสแรก เพื่อเปิดเดินรถพร้อมกันตลอดสาย

ด้าน นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กรณีการประมูล "รถไฟไทย-จีน" ครั้งนี้ อยากให้รัฐบาลเน้นกรณีการกระจายงานสู่ผู้รับเหมารายย่อยมากขึ้น เพื่อให้ผู้รับเหมาไทยได้รับงานอย่างทั่วถึง เนื่องจากทราบว่า มีกลุ่มบริษัทรับเหมารายใหญ่ของจีนหลายรายตามตื้อขอรับงานจากกลุ่มบริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไปดำเนินการ จึงจะเป็นการปิดโอกาสของผู้รับเหมาไทยในท้ายที่สุด

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503