ส.อ.ท. รับมือเทรดวอร์ปี 2 เต็มพิกัด!!

17 ธ.ค. 2561 | 11:03 น.
สภาอุตฯ ร่อนหนังสือถึงสมาชิก 1.1 หมื่นราย ตอบความจริงผลกระทบสงครามการค้า "สหรัฐฯ-จีน" ต่อธุรกิจ เร่งสรุปผลสิ้นปี พร้อมหารือรัฐรับมือ เชื่อหลังพักรบ 90 วัน 2 ยักษ์ใหญ่ชกกันต่อ สัญญาณอันตรายสินค้าจีนเริ่มทะลักเข้าไทยเพิ่มตามคาด

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แม้เวลานี้จะพักรบ 90 วัน เพื่อเจรจาต่อรอง ซึ่งทั่วโลกจับตาว่า เมื่อถึงเส้นตาย ทั้ง 2 ฝ่าย จะหาทางออกร่วมกันได้หรือไม่ หรือที่สุดแล้ว สหรัฐฯ จะกดปุ่มขึ้นภาษีสินค้าจีน 5,745 ราย จาก 10% เป็น 25% ตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ หากผลเจรจาไม่เป็นที่พอใจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามรูปการณ์แล้ว สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มยืดเยื้อ กรณีล่าสุด ที่สหรัฐฯ โดยความร่วมมือของแคนาดา ได้มีการจับกุมตัว นางเมิ่ง หวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีฯ ข้อหาละเมิดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่าน อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ทำให้การเจรจาเพื่อหาทางคลี่คลายสงครามการค้าตึงเครียดขึ้น แนวโน้มไม่ประสบความสำเร็จสูง และยังยืดเยื้อต่อในปี 2562

"ล่าสุด ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย โดยมีผมเป็นประธาน ได้มีการประชุมกันไปแล้ว 1 ครั้ง และได้มีการออกแบบสอบถามไปยัง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีสมาชิกรวมกันกว่า 1.1 หมื่นรายทั่วประเทศ เพื่อให้ตอบกลับมาถึงผลกระทบสงครามการค้า ว่า มีผลด้านบวกหรือด้านลบต่อธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของเขา ตามที่เกิดขึ้นจริงแล้วอย่างไรบ้าง และคาดการณ์ผลกระทบในปี 2562 จะเป็นอย่างไร ซึ่งจะพยายามรวบรวมข้อมูลและหาข้อสรุปให้ได้ก่อนสิ้นปี ทั้งนี้ เพื่อหามาตรการรองรับ หรือ นำหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือทั้งเชิงรับเชิงรุกต่อไป"

 

[caption id="attachment_375433" align="aligncenter" width="500"] ส.อ.ท. รับมือเทรดวอร์ปี 2 เต็มพิกัด!! เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะเดียวกัน จากที่สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีสินค้าจีนไปแล้ว 2 ครั้ง (รวม 3 ล็อต) รวมสินค้ากว่า 6,800 รายการ ในอัตราภาษี 10-25% ซึ่งทาง ส.อ.ท. เคยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้สินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงจากการขึ้นภาษี จะถูกส่งมาดัมพ์ขายในราคาต่ำในตลาดอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยมากขึ้น และจะกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าไทยจากจีนช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ มีหลายสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+21%), เคมีภัณฑ์ (+21%), เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (+20%), สินแร่โลหะ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ (+42%), แผงวงจรไฟฟ้า (+20%), เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน (+22%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูป (+35%) เป็นต้น ซึ่งจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ดังนั้น สินค้าจีนมีแนวโน้มจะทะลักมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ดี ในส่วนด้านบวกของสงครามการค้า คือ สินค้าเกษตรของไทย เช่น มันสำปะหลัง เพื่อใช้ผลิตอาหารสัตว์และแอลกอฮอล์ มีโอกาสจะส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ที่ถูกจีนขึ้นภาษี รวมถึงคาดว่า จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนด้านลบเป็นผลจากจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ไม่นับอาเซียน) สัดส่วน 12% ของการส่งออกในภาพรวม และสินค้าไทยหลายรายการ เช่น ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ที่นำเข้าจากไทยไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก มีตลาดใหญ่ที่สหรัฐฯ หากอนาคตสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนในล็อต 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10 เป็น 25% จะทำให้จีนส่งออกได้ลดลง การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปของไทยข้างต้นไปจีน ก็จะลดลงตามไปด้วย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การจับผู้บริหารของหัวเว่ยอาจจะเป็นชนวนให้การเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยากขึ้น และมีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้าจีนกว่า 5,700 รายการ จาก 10% เป็น 25% และมีโอกาสขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกันครั้งใหม่อีก ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทย ที่บางสินค้าอาจจะได้หรือเสียประโยชน์ในการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และจีน ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยคงต้องเร่งหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยง โดยตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ RCEP (อาเซียน+จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ไทยค้ากับกลุ่ม RCEP สัดส่วน 60% ของการค้าไทยกับโลก) รวมถึงตลาดอินเดีย รัสเซีย และกลุ่มซีไอเอส ที่มีผู้บริโภคขนาดใหญ่และเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี

"จากเป้าหมายการส่งออกไทยไปตลาดจีน ปี 2562 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 12% และไปสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 6% และเป้าหมายภาพรวมส่งออกไทยไปทั่วโลกปีหน้าที่ 8% ยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า ค่าเงิน ราคาน้ำมัน และอื่น ๆ เบื้องต้น ทาง สรท. คาดการณ์ส่งออกไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ที่ 5%"


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,427 วันที่ 16-19 ธ.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส.อ.ท. จี้! อุตฯ เร่งปรับตัวใช้ระบบอัตโนมัติสู้แข่งขันการค้า
ส.อ.ท. จับมือพันธมิตร! ปั้นเอสเอ็มอีไทยโกอินเตอร์


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน