"เลขาฯกกต." ยัน! หากเลือกตั้ง 24 มี.ค.รับรองผลทัน 45 วัน

16 ม.ค. 2562 | 09:28 น.
'จรุงวิทย์' คาดถ้าเลือกตั้ง 24 มี.ค. ประกาศผลก่อน 9 พ.ค. หรือทันกรอบ 45 วัน พร้อมแจงวิธีหาเสียงทำอะไรได้-ไม่ได้ เตรียมวอร์รูมตรวจสอบการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย เตือนผู้สมัครกดไลค์-กดแชร์โพสต์ใส่ร้าย ผิดทั้งอาญา พ.ร.บ.คอมพ์


จรุงวิทย์16-1-62
วันที่ 16 ม.ค. 2562 - พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้ กกต. ยังรอการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไร ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ประสานมา มีเพียงการประสานถึงงานพระราชพิธีว่าจะมีในวันใดบ้าง ในส่วนของ กกต. ได้พูดคุยกันว่าจะจัดการเลือกตั้งและประกาศผลภายใน 150 วัน นับแต่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ใช้บังคับ ภายในวันที่ 9 พ.ค.

"ส่วนถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. ระยะเวลาการประกาศผลก่อนวันที่ 9 พ.ค. หรือรวมแล้ว 45 วัน ก็น่าเชื่อว่า กกต. สามารถทำได้ แม้ว่าระยะเวลาดังกล่าวค่อนข้างจะบีบ และกฎหมายยังกำหนดให้ กกต. ต้องรับฟังความเห็นของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ด้วย" เลขาธิการ กกต. กล่าว

เลขาธิการ กกต. ยังชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การหาเสียงเลือกตั้งจะมีผลใช้บังคับ เมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้น กกต. จะเริ่มคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียง และการควบคุมการหาเสียงให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้ว จะต้องไม่มีการแจกเงิน หรือ สัญญาว่าจะให้ หรือ จูงใจด้วยวิธีการใด ๆ ให้เลือกหรือไม่เลือกบุคคลใด รวมถึงห้ามใส่ร้ายป้ายสี

นอกจากนี้ กกต. ยังช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยการออกหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน จัดทำป้ายไวนิล และแอพพลิเคชัน "ฉลาดเลือก" ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับทราบว่า ในเขตเลือกตั้งนั้นมีผู้สมัครเป็นใครบ้าง

ส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านโทรทัศน์และวิทยุ ผู้สมัครห้ามดำเนินการอย่างเด็ดขาด เว้นแต่เป็นการจัดสรรเวลาจาก กกต. ซึ่งจะได้พรรคละไม่เกิน 10 นาที พร้อมเตือนให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองจัดทำป้ายหาเสียงตามขนาดและจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ หากพบการกระทำผิดจะมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงดำเนินการได้

"รายละเอียดของวิธีหาเสียงที่น่าสนใจ เรื่องโซเซียลมีเดียที่กำหนดให้ผู้สมัครหาเสียงได้ทั้งในเฟชบุ๊ก ไลน์ และแอพพลิเคชันต่าง ๆ โดยคิดเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้สมัครต้องแจ้งต่อ กกต. ก่อนการหาเสียง เพื่อป้องกันพวกอวตาร ที่สวมรอยใช้รูป ใช้ชื่อคนอื่น แอบอ้างโจมตีผู้อื่น ซึ่งประธาน กกต. ให้ความสำคัญประเด็นนี้และจะลงมาดูแลเอง โดย สำนักงาน กกต. จะตั้งวอร์รูมตรวจสอบและทำความตกลงกับเจ้าของเว็บไซต์ เว็บเพจ เช่น เฟชบุ๊ก ยูทูบ เมื่อพบการโพสต์ข้อความไม่ถูกต้อง ใส่ร้ายป้ายสี จะประสานให้ผู้โพสต์ลบทิ้ง หากไม่ลบจะประสานให้กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการ

กรณีเป็นการโพสต์มาจากต่างประเทศจะประสานตัวแทนในประเทศไทยให้ลบ หากเป็นเว็บใต้ดิน หาที่มาไม่ได้ ก็จะลบเลย แต่จะเตือนไปยังผู้สมัครให้ระวังการกดแชร์ กดไลค์ กองเชียร์ กองแช่งมีเยอะ เพราะถ้าเป็นการกดแชร์หรือไลค์ข้อความใส่ร้าย นอกจากจะผิดอาญาข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว ยังผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษใบแดง" เลขาธิการ กกต. กล่าว

สำหรับเงินใส่ซองช่วยงานศพ หรือ วางพวงหรีด ต้องระวัง! อาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ย้ำ! ข้อกำหนดอาจถูกมองว่าเข้มข้น แต่เพื่อความเท่าเทียมในการหาเสียงระหว่างพรรคที่มีเงินและพรรคที่ไม่มีเงิน

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว