นักบริหารเกษตรอินทรีย์ จาก “สามพรานโมเดล” สู่มาตรฐานออร์แกนิกไทย

18 ม.ค. 2562 | 08:26 น.
“สามพรานโมเดล” กลายเป็นหนึ่งในต้นแบบของเกษตรอินทรีย์ที่รู้จักแพร่หลาย โดยผู้ก่อตั้ง “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นทายาทคนโตของ สุชาดา ยุวบูรณ์ ประธานบริหาร “สวนสามพราน”

ตลอดช่วงเวลา 8 ปี ของการสร้างและพัฒนา “สามพรานโมเดล” จนถึงปัจจุบัน โมเดลเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ ยังถูกพัฒนาและต่อเติมความเป็นเกษตรและธุรกิจที่ยั่งยืนต่อเนื่อง

“คุณโอ-อรุษ” วางเป้าหมายจากจุดเริ่มต้นของการสร้างเกษตรอินทรีย์ การทำเกษตรที่ปลอดสารเคมี และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับเกษตรกร และกลุ่มคนใหม่ๆ นอกเครือข่ายโรงแรม จากเกษตรกรและผู้ประกอบการในเขตนครปฐม ขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ โดยขณะนี้ เขากำลังสร้างเครือข่ายผ่านโซเชียลมูฟเมนต์ และอะคาเดมี ซึ่งไม่ใช่การเปิดศูนย์แล้วนำคนเข้ามาเรียนรู้ แต่จะเป็นการบริหารความรู้ร่วมกัน

O_02

“สมมุติวันนี้ทุกคนมาเป็นสมาชิกของอะคาเดมี เมื่อเรียนรู้กลับไป เราอยากขอให้ทุกคนมาสะท้อนว่า วันนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือวันนี้มีอะไรที่ทำให้เราฉุกคิดหรือคิดอะไรเปลี่ยนไป แล้วมีแรงบันดาลใจ หรือคุณมีความสนใจอะไร เสร็จแล้วเราก็จะดึงคุณกลับมาแชร์”

อะคาเดมี จะทำหน้าที่เป็น Social Movement Marketing การตลาดการขับเคลื่อน คือสร้างแรงบันดาลใจก่อน มีแรงบันดาลใจแล้วอยากออกไปเรียนรู้ อยากออกไปทำเอง

นอกจากนี้ อะคาเดมียังมีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างตอนนี้ก็มีประมาณ 7-8 โครงการ ในการพัฒนาหรือทำการวิจัยเรื่องต้นนํ้ากลางนํ้า ปลายนํ้า หรือเป็นเรื่องการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ Organic Tourism ซึ่งประเทศเราก็เป็นประเทศแรกที่ทำ เช่น องค์ความรู้ของการทำหมันแมลงวันทอง ซึ่งเป็นศัตรูร้ายของผลไม้ และการทำหมันแมลงวันทองที่ประเทศไทยยังไม่มีใครทำ แต่อาจารย์ท่านหนึ่งที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุนจาก UN มา หรือการวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคพืชผักเกษตรอินทรีย์ ว่ามีผลดีต่อร่างกายอย่างไร โดยขณะนี้เริ่มที่พนักงานของสามพรานริเวอร์ไซด์ก่อน

“คุณโอ” เล่าว่า ข้อมูลทุกอย่างจะถูกจัดเก็บ และเผยแพร่ให้กับสมาชิก ในรูปแบบดิจิตอลแพลตฟอร์ม ซึ่งได้ทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมาสนับสนุน

แนวความคิดของผู้บริหาร “สามพรานโมเดล” ไม่ได้คิดทำเพื่อสามพรานริเวอร์ไซด์ หรือคนสามพรานเพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้ได้ขยายไปสู่การเรียนรู้ระดับประเทศ มีต่างชาติสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยรูปแบบการทำ ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส เชื่อมต่อเครือข่ายให้สามารถซื้อขายกันเองได้โดยตรง

ขณะนี้สามพรานโมเดลมีเครือข่ายเกษตรกรทั้งหมด 15 กลุ่ม 170 กว่าราย อยู่ในจังหวัดนครปฐมและใกล้เคียง ซึ่งแต่ละกลุ่มมีระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) ของตัวเอง ที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล โดยในปี 2561 ผ่านระบบการรับรอง PGS แล้ว 103 ราย และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไอโฟม รายเดี่ยวจำนวน 17 ราย

“ผมค่อยๆ ดึงโรงแรมต้นแบบมารู้จัก PGS อย่างโรงแรมใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เพนนินซูล่า สุโกศล และอื่นๆ ที่เริ่มเข้าใจตรงนี้แล้ว เราคิดว่าในอนาคตเราไม่ต้องไปอยู่ภายใต้ใบรับรองที่ถูกสร้างขึ้นมาจากองค์กรต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้ผิดอะไร แต่การที่เรามีระบบร่วมกัน สร้างกันเองดีกว่าไหม เป็นการรับรองกันอย่างมีส่วนร่วม เราสร้างสังคม แล้วนำดิจิตอล แพลตฟอร์มมาเป็นตัวเชื่อมให้ทุกอย่างมีระบบมากขึ้น อะคาเดมี ก็เหมือนเป็นตัวบริการจัดการองค์ความรู้ที่มีการขับเคลื่อนกัน เพราะการมาเชื่อมกันอย่างนี้มันได้ความรู้ตลอดเวลา ซึ่งมันสำคัญมาก”

สิ่งที่ผู้ริเริ่ม “สามพรานโมเดล” สัมผัสมาตลอด 8 ปีว่า การทำงานเรื่องเกษตรอินทรีย์ ต้องดึงความต้องการของตลาดมาเสริมแล้วพัฒนาต่อ โดยตัวเลขความต้องการพืชผักเกษตรอินทรีย์ขยายตัวขึ้นประมาณปีละ 20% จากข้อมูลของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต แสดงให้เห็นว่าความต้องการของตลาดมี และปัญหาการทำเกษตรอินทรีย์ขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่เกษตรกรไม่ยอมเปลี่ยน แต่เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคไม่ยอมเปลี่ยนมากกว่า เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะ เกษตรกรเขาหลังชนฝา เขาเป็นหนี้ สุขภาพไม่ดี ถ้าให้เขาหยุดใช้เคมี เขาอยากหยุดอยู่แล้ว สินค้าก็ได้ราคากว่าด้วย เพียงแค่มีใครให้การสนับสนุนเขาหน่อย แนะนำตลาดให้เขา เกษตรกรพร้อมที่จะทำเลย

“คุณโอ” พูดติดตลกว่า เขาไม่ได้ต้องการที่จะเป็นคนกลางระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อ เขาต้องการให้เกษตรกรสามารถเป็นพ่อค้าขายตรงให้ผู้ซื้อได้เองเลย แต่เกษตรกรขาดความมั่นใจ ขาดความรู้ และต้องการคนกลางที่เป็นตัวเชื่อม เขาจึงเลี่ยงไม่ได้ และยังคงเดินหน้าที่พัฒนาระบบเหล่านี้ให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งขยายเครือข่ายให้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,436 วันที่  17 - 19 มกราคม พ.ศ. 2562

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก