'เอสเอ็มอี' ร้องจ๊าก! "ดอกเบี้ยขาขึ้น" แบกต้นทุนหลังโก่ง-วอนรัฐช่วย

16 ม.ค. 2562 | 05:33 น.
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรับสภาพอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ชี้! ได้รับผลกระทบเรื่องของต้นทุน "โจ-ลี่ แฟมิลี่" แนะรัฐเหลียวมองเอสเอ็มอีรายกลางมากขึ้น เหตุธุรกิจลงหลักปักฐานแล้วหันหลังกลับยาก ขณะที่ "โรแยล พลัส" ระบุ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่กู้ผ่านแบงก์พาณิชย์ หนีไม่พ้น

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี จากเดิมซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.50% ต่อปี เมื่อการประชุมครั้งล่าสุด วันที่ 19 ธ.ค. 2561 โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และให้มีผลทันที ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าวได้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังหลายภาคส่วนของธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งสายป่านสั้นและมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินในการดำเนินธุรกิจ

ต่อเรื่องดังกล่าว นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมเพื่อสุขภาพ แบรนด์ "เวล-บี" กล่าวให้ความคิดเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามปกติเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพเศรษฐกิจที่ดูเหมือนว่าจะดี แต่ไม่ดีอย่างที่คิด ยิ่งในช่วงปลายปีที่นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เอสเอ็มอีต่างก็ได้รับผลกระทบกันไปหมด

ทั้งนี้ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้น เมื่อผสมเข้ากับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ก็จะทำให้เอสเอ็มอีต้องแบกต้นทุนมากขึ้น โดยสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือนั้น มองว่า การที่พยายามสร้างหลักสูตรทางด้านต่าง ๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าโครงการ และมีการจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษให้ แต่ในความเป็นจริง เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย โดยบางครั้งก็ต้องยอมรับว่า มีการล็อกสินเชื่อให้กับลูกค้าเก่า และบางครั้งก็ให้เฉพาะในส่วนที่ต้องการจะให้เท่านั้น เช่น เอสเอ็มอีขนาดเล็ก


TP8-3436-B-

"รัฐควรจะให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งธุรกิจมีการวางระบบ รวมถึงโครงสร้างต่าง ๆ และมีค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน โดยมีความพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจและต้องเดินหน้าต่อ ไม่เหมือนกับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่ยังสามารถถอยกลับได้ หากธุรกิจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะฉะนั้น รัฐจึงควรที่จะเข้ามาดูแลเอสเอ็มอีขาดกลางมากขึ้น ซึ่งการดูแลทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ผ่านมาถือว่าไม่คุ้มค่า เพราะค่าความต่างของราคาซื้อกับราคาขายและออพชันนั้น ไม่สามารถช่วยเหลือได้เต็มประสิทธิภาพ"

นางสิริวรรณ เกษวิเศษ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายย่อมส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีอย่างแน่นอน โดยปัจจุบัน สถาบันการเงินต่างก็ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งต่อไปสิ่งที่ตามมา ก็คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ของธุรกิจ

"หากมองในมุมมองเศรษฐกิจมหภาค ทั้งฝั่งของผู้บริโภค ซึ่งหากดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น ก็จะมีผลต่อรายได้จากการลงทุน ทำให้มีรายได้มากขึ้น มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ ฝั่งตรงกันข้ามอย่างผู้ประกอบการก็จะต้องถูกผลกระทบ หากดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวขึ้น แม้ว่ารัฐจะพยายามออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในการตรึงดอกเบี้ยเงินกู้อย่าง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์

แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีผู้ประกอบการเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นลูกค้าของ ธพว. โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินของภาคเอกชน ซึ่งก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น จึงต้องถูกผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3436 วันที่ 17-19 มกราคม 2562

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก