เร่งปั้น EFC มหานครผลไม้โลก ดึงเอกชนร่วมทุน 1.5 พันล้าน ปตท.สนใจสร้างห้องเย็น

17 ม.ค. 2562 | 03:10 น.
รัฐเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ผลการศึกษาเบื้องต้นเสร็จก.พ.นี้ ใช้รูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน เผยใช้เงินลงทุนขั้นตํ่า 1,500 ล้าน ปตท.แสดงความสนใจลงทุนห้องเย็นขนาดใหญ่ 300 ล้าน ใช้เก็บผลไม้ ส่งขายนอกฤดูกาล เอสซีจีสนใจคลังสินค้า-ระบบโลจิสติกส์

เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นแล้วสำหรับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อเป็นตลาดกลางซื้อขายผลไม้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ขนาดพื้นที่ 37.6 ไร่ ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว ประกอบไปด้วย พื้นที่ห้องเย็นเก็บผลไม้ อาคารคลังสินค้า อาคารโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ อาคารสำนักงานด้านศุลกากรและชิปปิ้ง พื้นที่แสดงสินค้า อาคารประมูลผลไม้

ล่าสุดถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานดังกล่าว เมื่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการ Air Separation Unit หรือ หน่วยแยกอากาศ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ใช้เงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท กำลังผลิตประมาณ 450,000 ตันต่อปี สามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 โดยเฉพาะการผลิตก๊าซไนโตรเจน เพื่อป้อนให้กับห้องเย็นในโครงการ EFC ที่จะเกิดขึ้น

TP5-3436-A

นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้โครงการ EFC อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียดเบื้องต้น คาดจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ ซึ่งแนวทางการดำเนินงานจะกำหนดเป็นในรูปแบบพีพีพีที่รัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชนหรือเอกชนลงทุน ในด้านต่างๆ ทั้งห้องเย็นเก็บผลไม้ อาคารคลังสินค้าอาคารโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ อาคารสำนักงานด้านศุลกากรและชิปปิ้ง พื้นที่แสดงสินค้า อาคารประมูลผลไม้ เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นประเมินการลงทุนขั้นตํ่าไว้ราว 1,500 ล้านบาท

โดยในส่วนการลงทุนสร้างคลังสินค้าห้องเย็น (cold storage) ขนาดใหญ่ ที่จะใช้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บผลไม้ขนาดความจุ 3,000 ตันต่อวัน ทางกลุ่มปตท.ก็แสดงความสนใจที่จะมาลงทุน เนื่องจากเป็นการต่อยอดธุรกิจจากการตั้งโรงงาน Air Separation Unit ที่ร่วมกับบีไอจี ที่จะนำก๊าซไนโตรเจน มาทำความเย็นในการรักษาคุณภาพผลไม้ให้มีระยะเวลาอยู่ให้นานขึ้น และสามารถนำออกมาจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาลได้ ที่ประมาณว่าน่าจะใช้เงินลงทุนราว 200-300 ล้านบาท

รวมถึงธนาคารกรุงไทย นักลงทุนจากญี่ปุ่น และฮ่องกง ก็แสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในส่วนนี้อีกเช่นกัน

ในขณะที่เอสซีจี ก็แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในส่วนของคลังสินค้าและโลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์ ที่เอสจีซีมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้อยู่แล้ว เป็นต้น ส่วนกิจกรรมอื่นๆ กำลังหารือกับนักลงทุนว่ามีรายใดจะสนใจเข้ามาลงทุน

[caption id="attachment_374628" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวคาดว่าเริ่มก่อสร้างได้ประมาณช่วงปลายปีนี้ หลังจากรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ของโครงการ สมาร์ท พาร์คแล้วเสร็จ และใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี และเปิดดำเนินการในปี 2564 ได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2-3 เท่า ช่วยลดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลนหรือล้นตลาด แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกตํ่า เป็นศูนย์กลางของแหล่งจัดซื้อและจัดหาผลไม้ของประเทศ สร้างนักธุรกิจในห่วงโซ่เกษตรเพิ่มขึ้นทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และจะช่วยสร้างให้ภาคตะวันออกเป็น “มหานครผลไม้โลก” ได้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,436 วันที่ 17-19 มกราคม 2562 595959859