ทช. เร่งขยายถนนกัลปพฤกษ์ เชื่อม "กาญจนาพิเษก-ถนนราชพฤกษ์"

14 ม.ค. 2562 | 05:23 น.
ทางหลวงชนบทเร่งขยายถนนกัลปพฤกษ์ (ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์) ระยะทาง 7.6 กิโลเมตร จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ลงทุนกว่า 476 ล้าน คืบหน้าแล้วกว่า 30% มีลุ้นแล้วเสร็จปลายปีนี้ ส่วนโครงการส่วนต่อขยายกัลปพฤกษ์-พุทธสาคร 13 กม. ยังมีลุ้นตั้งงบการลงทุน ด้าน รองผู้ว่า กทม. ลงพื้นที่เร่งรัดโครงการฝั่งธนบุรี



B30A8A94-021C-45EE-8683-0307D1FAD604
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างขยายถนนกัลปพฤกษ์ (ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์) ระยะทาง 7.6 กิโลเมตร จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ว่า ปัจจุบัน โครงการมีผลงานความก้าวหน้ากว่า 30% โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างชั้นโครงสร้างทางส่วนขยายผิวจราจร และขั้นตอนทรายถมหลังท่อระบายน้ำ เพื่อเตรียมก่อสร้างทางเท้า การก่อสร้างจุดยูเทิร์นชาวง แยกกำนันแม้น และสุขาภิบาล 1 ทั้งนี้ ทช. จัดงบประมาณก่อสร้าง 476 ล้านบาท และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 2562 นี้

 

[caption id="attachment_374404" align="aligncenter" width="500"] EDCC6B12-3C61-402D-A74A-84C6D0D86996 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท[/caption]

สำหรับถนนกัลปพฤกษ์ ปัจจุบันมีขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) เริ่มต้นที่ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) สิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ บริเวณสวนเลียบ มีรถใช้เส้นทางเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการขยายตัวของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมีการจราจรที่ติดขัด โดยเฉพาะบริเวณทางแยกต่างระดับสวนเลียบ (ถนนกัลปพฤกษ์ตัดกับถนนราชพฤกษ์) แม้ว่าที่ผ่านมา ทช. ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกถนนสุขาภิบาล 1 และถนนกำนันแม้นแล้วเสร็จ โดยสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังเชื่อมเข้าถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) สายสีลม ช่วงสถานีวุฒากาศและสถานีบางหว้า ได้อย่างสะดวกอีกด้วย สามารถเข้าถึงสีลมและสาทรได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังเชื่อมสู่ถนนราชพฤกษ์และถนนรัชดาภิเษกไปยังถนนพระราม 3 ได้ภายในไม่กี่นาที จึงเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สภาพการจราจรติดขัด เนื่องจากมีรถใช้เส้นทางจำนวนมาก

โดยกรมทางหลวงชนบทได้ก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำและทางเดินเท้า รวมทั้งปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ทั้ง 2 ฝั่ง และเครื่องหมายจราจรที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้การเดินทางไปยังสะพานสาทรและเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ตากสิน-บางหว้า) ได้สะดวกต่อไป

นายพิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนโครงการศึกษาก่อสร้างส่วนต่อขยายถนนกัลปพฤกษ์-ถนนพุทธสาคร งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ เตรียมเสนอผู้บริหารระดับสูงเร่งผลักดัน พร้อมตั้งงบประมาณไปดำเนินการและการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเวนคืนต่อเนื่องกันไป ปัจจุบัน มีผู้ร้องเรียนในบางจุด จึงอยู่ระหว่างการเคลียร์ความชัดเจนในโครงการดังกล่าว ก่อนเสนอของบประมาณโดยเร็วต่อไป

ด้าน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางลอดจรัญสนิทวงศ์-พรานนก, โครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรถนนสุทธาวาสและสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางกอกน้อย และโครงการปรับปรุงถนนฉิมพลี ช่วงจากถนนบรมราชชนนีถึงถนนเลียบทางรถไฟสายใต้และถนนราชพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน ว่า สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์ "มหานครสีเขียว สะดวกสบาย" ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เชื่อมโยงโครงข่ายถนน เพิ่มประสิทธิภาพการจราจรให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว