หน้าใหม่การเมือง | "ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ" ดันผู้หญิงร่วมโต๊ะเจรจา ขอพื้นที่สร้างสันติสุขชายแดนใต้

13 ม.ค. 2562 | 12:19 น.
130162-1908

ด้วยพื้นเพเป็นคนยะลาแต่กำเนิด และเป็นผู้หญิงในครอบครัวที่ต้องสังเวยชีวิตแก่ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ "ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ" นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) จึงกลายเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวของ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ "ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ติดต่อขอให้ลงชิงสนามเลือกตั้งในพื้นที่ด้ามขวานทอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองรุ่นพี่ที่เคยโชกโชนการเลือกตั้งมาแล้ว

 

[caption id="attachment_374237" align="aligncenter" width="421"] ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)[/caption]

เปิดพื้นที่สร้างศักยภาพสตรี

"ปาตีเมาะ"
จบปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยผ่านประสบการณ์ด้านการบรรยายเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีจากหลายหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับรางวัล "บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2554" จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประสบการณ์ตรงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงด้วยตัวเอง และการถ่ายทอดความจริงที่เกิดขึ้น ในฐานะชาวไทยมุสลิม จึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันบทบาทผู้หญิงให้เกิดขึ้นบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ

นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ยอมรับว่า บทบาทผู้หญิงในภาคใต้มีน้อยมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อและวัฒนธรรม จึงยากที่ผู้หญิงจะเป็นผู้นำทางการเมือง ทำให้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มี ส.ส.หญิง ในสภาเลย ที่เคยลงสมัคร อาทิ พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ลูกสาว "เด่น โต๊ะมีนา" อดีต ส.ส.ปัตตานี หลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ก็เป็นเพียงผู้สมัคร ส.ส.กทม. และเคยลงสมัคร ส.ว. ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นกัน

"ในสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ มีสมาชิกมากถึง 5,000 คน แต่เราตะโกนยังไงเสียงก็ไม่ดัง เราจึงคิดว่า มันควรเป็นโอกาสดีที่จะริเริ่มและบุกเบิกสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วม และไม่ใช่ครั้งนี้และจะมีครั้งต่อ ๆ ไป"

"ปาตีเมาะ" ยอมรับว่า เดิมทีไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง กว่าจะตัดสินใจเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. ก็ใช้เวลาตัดสินใจนานทีเดียว เหตุผลสำคัญที่โดดลงเวทีการเมือง เพราะทำงานเกี่ยวข้องกับผู้หญิงมาตลอด หลายครั้งที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องผลประโยชน์ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับชาติ


14-3427-130162-1905

ดันผู้หญิงร่วมเจรจาสันติภาพ

"ปาตีเมาะ"
เชื่อว่า ถ้าได้มีโอกาสเข้ามาสู่เวทีการเมืองแล้วจะทำให้เสียงดังขึ้น ที่ผ่านมา มีหลายพรรคที่ทาบทาม ประมาณ 7-8 พรรค แต่บางพรรคที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงเข้าไป แต่ทาบทามให้เป็นผู้บริหารพรรคฝ่ายสตรี พรรคอื่น ๆ ก็จะเป็นผู้ประสานงานพรรค เมื่อไปคุยดูแล้วเหมือนต้องอยู่ข้างหลัง เหมือนไม่มีตัวตน ไม่มีเสียง ทำให้ไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าไป แต่ถ้าเข้าไปแล้วสามารถเป็นหนึ่งที่พูดอะไรแล้วคนฟัง และมีปากมีเสียงในพรรคได้ จึงเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของพรรค รปช.

ที่ผ่านมา ผู้หญิงพยายามผลักดันเรื่องการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล มีการรณรงค์มานานพอสมควรที่จะนำเสียงผู้หญิงเข้าร่วมโต๊ะเจรจา เรามองเห็นว่า การพูดคุยแต่ละครั้งไม่มีตัวแทนที่เป็นผู้หญิงเข้าไปนั่งบนโต๊ะเจรจาเลย สิ่งหนึ่งที่พยายามเจรจาในฐานะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นผู้ที่แบกรับปัญหาทั้งหมดในพื้นที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่มันไม่ได้ถูกตอบรับ

หลายครั้งคณะทำงานในพื้นที่ที่ดูแลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ก็ไม่มีตัวแทนผู้หญิงเข้าไปนั่งเลย ทั้งที่เราพยายามส่งเสียงอยู่ตลอด เราจึงคิดว่าจะผลักดันเฉพาะข้างล่างไม่พอแล้ว คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นอีกคนหนึ่งที่อาสาเข้าไปนั่งในสภา เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้หญิงเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปแก้ปัญหาของเขาเองในการตัดสินใจในคณะกรรมการต่าง ๆ รวมทั้งคณะกรรมการพูดคุยด้วย

สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ คนในพื้นที่ก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่องของคุณภาพชีวิต หญิงหม้าย เด็กกำพร้า ระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะทำอย่างไรให้คนสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มันย่ำแย่ตอนนี้ จึงเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาของเราได้ดีเท่าตัวเรา

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2562 "ปาตีเมาะ" ยอมรับว่า ในพื้นที่ยะลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเมืองดุเดือดมาก มีผู้สมัครจากหลายพรรคการเมือง คู่แข่งสำคัญของพรรค รปช. คือ พรรคประชาชาติ ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค

แม้จะเป็นคู่แข่งทางการเมือง แต่เธอเล่าว่า ได้มีข้อตกลงร่วมกันของผู้สมัครพรรคคู่แข่งว่า ใครก็ตามที่เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองจะได้รับการสนับสนุนร่วมกัน ให้ยึดเรื่องการสร้างประโยชน์ในพื้นที่เป็นที่ตั้ง

"อะไรก็ตามที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันสนับสนุนและจะไม่ขัดแย้งกัน" ปาตีเมาะ กล่าวทิ้งท้าย


……………….

คอลัมน์ : หน้าใหม่การเมือง โดย ดารารัตน์ มหิกุล

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,427 วันที่ 16 - 19 ธ.ค. 2561 หน้า 14

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'บิ๊กตู่' ยัน! ยังร่วมมือรัฐบาลมาเลย์ จัดคุยสันติสุขชายแดนใต้ต่อ
กลุ่มเซ็นทรัล ส่งต่อความสุขน้อง ๆ 3 จังหวัดชายแดนใต้

บทความน่าสนใจ :
หน้าใหม่การเมือง | "ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง" ทายาท 'ปุ้มปุ้ย' ... "การเมืองยุคใหม่ต้องไม่ยํ่าอยู่กับที่"
หน้าใหม่การเมือง | รู้จักเกษตรกรตัวจริง "องอาจ ปัญญาชาติรักษ์" ลูกไม้หล่น ... ไม่ไกลต้น


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว