'สระบุรี' จุดพลุ "เมืองไมซ์อัจฉริยะ" ทุ่มงบ 30 ล้าน ขับเคลื่อนการพัฒนา

13 ม.ค. 2562 | 08:05 น.
"สระบุรีพัฒนาเมือง" ผนึกพลังรัฐและเอกชน เร่งกระตุ้นการลงทุน ยกระดับสระบุรีเป็นใจกลางเซ็นทรัลคอลิดอร์ ทุ่ม 30 ล้านบาท เตรียมพื้นที่ถนนสุดบรรทัด เป็นศูนย์เศรษฐกิจไมซ์เมืองอัจฉริยะ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งและสนามบิน

นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมระหว่างเทศบาลเมืองสระบุรีกับ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ร่วมกับหอการค้าจังหวัดสระบุรี โดยเลขาธิการหอการค้า ขนส่งจังหวัดสระบุรี และสมาคมการผังเมืองไทย เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา เห็นตรงกันในการใช้แนวคิด "สระบุรีเมืองไมซ์อัจฉริยะ" หรือ Saraburi MICE & Smart City โดยใช้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุมและนิทรรศการ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยงทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยววิถีชุมชนและการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอาหาร พร้อมด้วยธุรกิจโรงแรมที่พัก การค้าปลีก และการนันทนาการกลางคืน เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน


S__5120019

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบัน สระบุรียังมีปริมาณห้องพักโรงแรมในพื้นที่ตัวเมืองไม่ถึง 5,000 ห้อง แต่หากรวมจำนวนห้องพักของ อ.มวกเหล็ก โดยรวมกับที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะพบว่า ภายในปี 2570 สระบุรีจะมีห้องพักรวมกันไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นห้อง เช่นเดียวกับพื้นที่ศูนย์การประชุม ซึ่งจะมีการก่อสร้างบริเวณใกล้ศาลากลางแห่งใหม่ และ อ.มวกเหล็ก จะมีพื้นที่จัดการประชุมรองรับผู้ประชุมได้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน

ดังนั้น เมื่อรวมกับการเติบโตของภาคการค้าปลีกและการบริโภคที่รองรับการเปิดบริการของรถไฟความเร็วสูงสถานีสระบุรีและการเชื่อมโยงโครงข่ายมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา พร้อมด้วยการเปิดบริการระบบขนส่งมวลชนรองเมืองสระบุรี หรือ Saraburi City Bus จำนวน 2 เส้นทาง จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม จ.สระบุรี (GPP) เติบโตในปี 2670 ไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่า หลังจากกรมทางหลวงเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดให้บริการสถานีรถไฟความเร็วสูงแล้ว สระบุรีจะมีประชากรชั่วคราวจากกลุ่มผู้เดินทางเข้าพำนักมากกว่าวันละ 3,000 คน และประชากรชั่วคราวที่เป็นนักท่องเที่ยวและผู้เข้าประชุมอีกไม่น้อยกว่าวันละ 7,000 คน หรือรวมกันไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

"ประชากรดังกล่าวนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 500 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อรวมกับการเติบโตของธุรกิจบริการ ที่รองรับการเดินทาง ท่องเที่ยว ประชุม การค้าปลีก การนันทนาการ และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว ในปี 2570"

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปตามเป้าหมาย สมาคมฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการวิจัยการพัฒนากลไกการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม หรือ SG-ABC ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบ ปรับปรุง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามแนวทาง "สระบุรีเมืองไมซ์อัจฉริยะ" โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานร่วมกับ จ.สระบุรี เทศบาลเมืองสระบุรี หอการค้าจังหวัดสระบุรี และภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1.จัดงานทดสอบสถานการณ์จำลอง เพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ถนนสุดบรรทัด (มอมอ Saraburi more/Saraburi Tactical Urbanism#1) ในวันที่ 21 ม.ค. 2562 บริเวณหน้าสถานีขนส่งสระบุรี โดยเทศบาลเมืองสระบุรีรับผิดชอบการปรับปรุงกายภาพถนนและทางเดินด้านหน้าสถานีขนส่ง ให้เป็นจุดหมายตาและจุดรวมกิจกรรมสร้างสรรค์เศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางของพื้นที่ ร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทยและ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด โดยงานดังกล่าวนี้จะมีเวทีเสวนาริมถนน หรือ Saraburi Street Talk#1 เพื่อนำเสนอแนวทางในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ถนนสุดบรรทัด โดยมี นายมานุชญ์ วัฒนโกเมร รองประธานกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน คนที่ 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วมด้วย


S__5120018

2.จัดการประชุมร่วมเครือข่ายสระบุรีไมช์เมืองอัจฉริยะ ในเดือน ก.พ. 2562 เพื่อสรุปแผนแม่บทการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สระบุรีไมซ์เมืองอัจฉริยะ โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจหลักประเภทศูนย์การประชุมและนิทรรศการ โรงแรม ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับรองรับผู้ประชุม นักท่องเที่ยว และผู้เยี่ยมเยือนประเภทต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวเกษตรนิเวศ พื้นที่ อ.เสาไห้ กลุ่มท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม พื้นที่ อ.แก่งคอย การท่องเที่ยวชุมชนและวิถีชีวิต อ.เมือง และการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อ.มวกเหล็ก พร้อมทั้งจัดทำแผนรณรงค์เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และการนำเสนอให้ศึกษาออกแบบท่าอากาศยานนานาชาติสระบุรี ในปี 2575 รองรับการเดินทางทางอากาศที่ล้นมาจากท่าอากาศยานดอนเมือง

3.การออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจไมช์ถนนสุดบรรทัดให้เป็นศูนย์การพัฒนาพิเศษไมซ์ หรือ MICE Special Districts - MSD ใช้งบลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท โดยโครงการ SG-ABC จะออกแบบปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าและชั้น 2 ของสถานีขนส่งสระบุรี เป็นโคเวร์คกิ้งสเปซ พื้นที่ 500 ตารางเมตร ทั้งนี้ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด จะใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ในการลงทุน ปรับปรุง และบริหารสถานที่ โดยจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์ข้อมูลอัจริยะของจังหวัด เพื่อสนับสนุนการลงทุนทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น เทศบาลเมืองสระบุรีจะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท ในการปรับปรุงกายภาพถนนสุดบรรทัด โดยเฉพาะทางเท้าและทางแยกตามแนวทางถนนสมบูรณ์ หรือ Complete Streets เพื่อให้เป็นพื้นที่อัจฉริยะรองรับการลงทุนและการเป็นศูนย์กลางไมซ์

4.บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด จะร่วมกับเครือข่ายขนส่งมวลชนและสำนักงานขนส่งจังหวัด เปิดทดลองให้บริการ Smart Bus สายแรก ในเดือน เม.ย. 2562 และ พ.ย. 2562 เปิดบริการสายที่ 2 ซึ่งจะเป็นโครงข่ายขนส่งมวลชนรอง เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์เศรษฐกิจใหม่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงสระบุรีกับศูนย์เศรษฐกิจไมช์ถนนสุดบรรทัด หรือ MSD โดยตามแผนปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ปี 2670 "สระบุรี" จะเป็นเมืองไมซ์อัจฉริยะที่มีความสมบูรณ์

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว