โวยบินเชื่อม 3 เมืองมรดกโลกช้า จี้รัฐเร่งบริการ‘นานาชาติ’เต็มรูป

16 ม.ค. 2562 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายงาน : โต๊ะข่าวภูมิภาค

การประชุม 3 ฝ่ายภายใต้กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรดกโลก “บ้านเชียง-หลวงพระบาง-ฮาลองเบย์” เพื่อให้มีการดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 3 ฝ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เป็นการประชุมประจำปี 2561-2562 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่จังหวัดอุดรธานีเป็นเจ้าภาพ เพื่อผลักดันแก้ไขร่วมกันต่อไปนั้น

TP9-3435-A

นายทินกร ทองเผ้า นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี กล่าวกับผู้สื่อข่าว“ฐานเศรษฐกิจ” อุดรธานี ว่า หลังการประชุมดังกล่าว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอุดรธานี ได้รับเชิญจากสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวของสปป.ลาวและเวียดนาม ไปดูงานและสำรวจความพร้อมของสนามบินในเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว และสนามบินเมืองไฮฟองของเวียดนาม ซึ่งอยู่ใกล้กับอ่าวฮาลอง พบว่าพัฒนาไปมาก โดยสนามบินหลวงพระบาง มีการปรับปรุงและขยายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสนามบิน จนสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้แล้ว และมีสายการบินจากประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้บินมาใช้บริการ ส่วนที่เมืองไฮฟองก็ได้มีการปรับปรุงสนามบินทหารเก่า ให้เป็นสนามบินพาณิชย์ จนสามารถใช้ได้ในเชิงพาณิชย์สมบูรณ์แบบแล้วเช่นกัน

ส่วนสนามบินอุดรธานีนั้น ขยายอาคารผู้โดยสารเป็น 2 อาคาร เพิ่มศักยภาพลานจอดเครื่องบิน ให้สามารถจอดได้พร้อมกัน 11 หลุมจอด ฯลฯ จนสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 5-7 ล้านคน เป็นต้น โดยได้รับการประกาศเป็นสนามบินศุลกากรมาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการเป็นท่าอากาศยานนานาชาติได้ เพราะยังขาดบุคลากรเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากร ด่านตรวจสัตว์-ผลไม้ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่สนามบิน โดยเวลานี้หากจำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาปฏิบัติหน้าที่ที่สนามบินอุดรธานี จะต้องแบ่งเจ้าหน้าที่มาจากจังหวัดหนองคายเป็นครั้งคราวไป

ทำให้เกิดความไม่สะดวก และเมื่อสายการบินระหว่างประเทศส่งพนักงานการตลาดมาสำรวจเพื่อทำตลาดและเปิดเส้นทางบินใหม่ตรงมาที่อุดรธานี เมื่อมาพบความไม่พร้อมของปัญหาดังกล่าว ก็ตัดสินใจไม่เปิดเส้นทางบินมา เพราะปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญในเชิงธุรกิจการบิน

“ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี และภาคเอกชนส่วนอื่นๆ ในจังหวัด จะนำเอาปัญหาดังกล่าวนำเข้าเสนอในที่ประชุมกรอ.จังหวัด อีกครั้ง ในวันที่ 10 มกราคม 2562 นี้” นายทินกรกล่าวยํ้า

สนามบินอุดรธานี เป็นสนามบินขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนและประเทศจีน อยู่ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม มีความสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ลำตัวกว้าง เช่น เครื่องโบอิ้ง 747 และอื่นๆ ได้ เพราะมีรันเวย์กว้างและยาวเพียงพอ คือมีความยาวกว่า 3,000 เมตร

ทั้งนี้ สนามบินอุดรธานี เป็น 1 ใน 4 สนามบินในสังกัด ทย. ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือทอท. เสนอแผนธุรกิจต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อขอเข้าบริหารกิจการสนามบิน แต่เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงโดยหลังจากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบยังต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติอนุมัติต่อไป ซึ่งก็เงียบหายไปนาน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก นายทินกรกล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้รูปแบบการเดินทาง ท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปมาก นักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกรวดเร็ว หันมาใช้เครื่องบินกันมากขึ้น เพราะเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแล้วคุ้มค่ากว่าการเดินทางด้วยรถโดยสาร หรือบางกรณีประหยัดกว่าด้วยซํ้า โดยเวลานี้นักท่องเที่ยวจีนจะบินมาลงที่เวียงจันทน์ มีบางส่วนเดินทางเข้ามาในภาคอีสานด้านจังหวัดหนองคาย อุดรธานี อีกส่วนหนึ่งก็มาลงที่เชียงใหม่ ซึ่งจากทั้ง 2 จุดก็เริ่มที่จะทำแพ็กเกจ มาเที่ยวในภาคอีสานตอนบนกันบ้างแล้ว

นอกจากนี้มีนักท่องเที่ยวจากเวียดนาม ใช้รถโดยสารระหว่างประเทศมาลงที่เวียงจันทน์ แล้วเดินทางต่อมาท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานี เช่นที่อนุสรณ์สถานบ้านโฮจิมินห์ โดยผ่านทางเวียงจันทน์-จ.หนองคาย เดือนละหลายครั้งและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นเวลายาวนานนับ 10 ชั่วโมงและมีความยุ่งยากในการทำเอกสารผ่านแดนหลายขั้นตอน หากสนามบินอุดรพร้อมและมีไฟลต์บินตรงมาลงช่วยอำนวยความสะดวก จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาอุดรธานีได้อีกมาก
‘เตรียมรับเที่ยวแบบใหม่’

“ทินกร” มองว่า 2-3 ปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวจีน-เกาหลี ที่มาลงสนามบินวัดไต เวียงจันทน์ เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจะทะลักเข้ามาเที่ยวอุดรธานี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT) ที่เป็นนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ นิยมบุกเบิกที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งสถานบริการบางแห่งเริ่มปรับตัวรับ ปัญหาคือหลายพื้นที่ยังไม่มีไกด์ภาษาจีน

“ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ทุกจังหวัดต้อง เตรียมรับ แนวทางหนึ่งสมาคมประสานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้นักศึกษาจีนในโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่เข้าใจภาษาไทย มาอบรมผู้ช่วยไกด์ไทย หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรฯ มีนักศึกษาไทยไปแลกเปลี่ยนเรียนที่จีน ถ้ากลับมาแล้วประสงค์จะเป็นไกด์ประจำถิ่่น ก็จะจัดอบรมวิชาชีพไกด์พร้อมกันไปจนจบหลักสูตร เพื่อได้รับบัตรอนุญาตไกด์ประจำถิ่น เป็นการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ไว้รองรับ หาไม่แล้วก็จะถูกคนต่างถิ่นเข้ามาใช้ประโยชน์แทนอย่างเช่นเมืองท่องเที่ยวหลักในปัจจุบัน โดยที่คนท้องถิ่นไม่มีส่วนได้อะไร” ทินกรยํ้า

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,435 วันที่ 13-16 มกราคม 2562

[caption id="attachment_374628" align="aligncenter" width="335"] เพิ่มเพื่อน [/caption]