ตื้น-ลึก-หนา-บาง | ส่อง 7 อัตลักษณ์ จิตวิญญาณ "ดุสิตธานี" สร้างตำนานใหม่มิกซ์ยูส 3.6 หมื่นล้าน

13 ม.ค. 2562 | 07:07 น.
130162-1315 156274

... กดสวิตช์ชัตดาวน์ปิดตำนานอย่างเป็นทางการ 5 ทุ่มค่ำคืนวันที่ 5 มกราคม 2562 ไล่ตั้งแต่ชั้นแรกถึงยอดอาคาร โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ทำเอาผู้คนที่ผ่านไปแถวนั้นใจหายแวบ แสงไฟที่เคยระยิบระยับ นักท่องเที่ยวหัวดำ หัวแดงเดินเข้า-ออก ไม่ขาดสาย หัวมุมถนนสีลม แต่บัดนี้ภาพชินตาเหล่านี้ได้เลือนหายไป เที่ยงวันเดียวกัน พนักงานตั้งไลน์ส่งแขกทีละคน ห้องอาหารทุกห้องถูกจองเต็ม

 

[caption id="attachment_374119" align="aligncenter" width="377"] "สมเกียติ" วิศวกรที่อยู่มากว่า 27 ปี ผู้กดสวิตช์ชัตดาวน์ปิดตำนานอย่างเป็นทางการ 5 ทุ่มค่ำคืนวันที่ 5 มกราคม 2562 "สมเกียติ" วิศวกรที่อยู่มากว่า 27 ปี ผู้กดสวิตช์ชัตดาวน์ปิดตำนานอย่างเป็นทางการ 5 ทุ่มค่ำคืนวันที่ 5 มกราคม 2562[/caption]

156283 156285
หลายคนได้มีโอกาสแวะเวียนไปซื้อ เบเกอรี่ ของที่ระลึกหอบหิ้วกันพะรุงพะรัง บ้างก็เก็บภาพตามมุมต่าง ๆ รวมถึงถ่ายภาพคู่กับเจ้าของ (คุณชนินทธ์) เป็นที่ระลึกในวันประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันที่ไม่ธรรมดา แต่ก็ถึงเวลาที่ตำนานโรงแรม 5 ดาว แบรนด์ไทยรุ่นเก๋าต้องโบกมือลา เพื่อพบกับโฉมใหม่ มิกซ์ยูสมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท อีก 4 ปีข้างหน้า


156284 156282

เปิดใจทายาทคนโต


 

[caption id="attachment_374118" align="aligncenter" width="335"] ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และในฐานะทายาทคนโต ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้ง ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และในฐานะทายาทคนโต ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้ง[/caption]

"ชนินทธ์ โทณวณิก" รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และในฐานะทายาทคนโต ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้ง และมีประสบการณ์ตรงจากการช่วยงานคุณแม่ตั้งแต่เริ่มต้นเท่าที่เด็กชายวัย 13 ปีขณะนั้นจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยกันปลูกต้นไม้บริเวณสระน้ำและอื่น ๆ เขาเล่าอย่างเศร้า ๆ ว่า ช่วงนั้นเมื่อมีปัญหาอะไร

"คุณแม่จะเล่าให้ลูก ๆ ฟัง เพราะเรา 3 คน นอนกับคุณแม่ ส่วนคุณพ่อเป็นข้าราชการไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจ อย่างไรก็ดี กว่าจะตัดสินใจรื้อโรงแรมเพื่อสร้างใหม่ที่ว่าเป็นเรื่องยากที่สุดในชีวิตแล้ว การตัดสินใจว่า ควรจะนำสิ่งที่ผูกพันอะไรออกไปด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน"


156273

เขายกตัวอย่าง ต้นไม้ที่คุณแม่ปลูก เราจะนำไปด้วยและนำกลับเข้ามาปลูกใหม่เมื่อโรงแรมสร้างเสร็จ โดยจะคัดแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ต้นไม้ที่นำไปปลูกไว้ตามโรงแรมในเครือ 2.ต้นไม้ที่จะส่งมอบให้สวนลุมพินี และ 3.ต้นไม้ที่คุณแม่ปลูกจะถูกนำไปอนุบาล โดยนำออกไปอย่างให้ กิ่ง ก้าน สมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะต้นลีลาวดี 2 ต้น หน้าน้ำตกขั้นบันได


156270


"วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายแพงมาก ตกต้นละ 3 แสนบาท เมื่อเทียบกับซื้อต้นไม้ใหม่มาปลูกต้นละ 5 หมื่นบาท แต่เรายอมจ่าย เพราะเป็นความผูกพันมีผลต่อจิตใจ ขณะที่ การรื้อถอนจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยใช้วิธีตัดตัวอาคารออกเป็นชิ้น ๆ แล้วนำไปทำลายที่อื่น เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นละออง เพิ่มมลพิษ ซึ่งจะเริ่มงานรื้อถอนได้ในเดือนเมษายนนี้"


โรงแรมใหม่จะเป็น "แฟล็กชิพ" ของกลุ่ม

เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยสภาพของอาคารตัวฐานรากที่สร้างมานาน รวมถึงมีการตอกเสาเข็มสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ของ กทม. และขนาดห้องพัก 32 ตารางเมตร ขยายไม่ได้ เพราะติดตรงทรงอาคารเป็นสามเหลี่ยม ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับโรงแรมใหม่ ๆ จึงถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจรื้อเพื่อสร้างใหม่ และเพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามมูลค่าที่ดินปัจจุบันของย่านธุรกิจสีลม


156259

จึงจำเป็นต้องสร้างโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท หลังได้ต่อสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 67 ปี และได้พื้นที่เพิ่มเป็น 23 ไร่ ส่วนการลงทุนเป็นการร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด เป็นโครงการที่ผสมผสานระหว่างห้างสรรพสินค้า ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม ส่วนของโรงแรมที่จะเป็น "แฟล็กชิพ" จากปัจจุบัน ดุสิตธานีได้ขยายเครือข่ายจะถึง 27 ประเทศ ในปีนี้ มีโรงแรม 70 แห่งทั่วโลก ในฐานะที่เป็นโรงแรมของคนไทย ที่นี่จึงถูกวางให้เป็นแฟล็กชิพสำคัญ

"เป้าหมาย คือ ท้าชนโรงแรมใหม่ ๆ ที่เปิดบริการอยู่ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น Waldorf Astoria Four Season ไฮแอท รีเจนซี ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น ขนาดห้องพัก ความทันสมัย การตกแต่งที่คงความเป็นไทย และเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของความเป็นดุสิตธานีดั้งเดิม ความผูกพันเหมือนความตั้งใจของคุณแม่ที่เคยเปิดโรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมของคนไทยเมื่อ 49 ปีก่อน" ทายาทดุสิตธานี กล่าว


7 เอกลักษณ์ สะท้อนตัวตนดุสิตธานี

โรงแรมดุสิตธานีนับเป็น 5 ดาวรุ่นแรกของเมืองไทย เป็นตึกที่สูงที่สุดในขณะนั้น ออกแบบโดยสถาปนิกต่างชาติที่ผสมผสานกับความเป็นไทยร่วมสมัย จึงยังเหลือร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์ สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของเมืองดุสิตธานี ความผูกพันทางจิตใจของเจ้าของและคนไทยที่จะต้องถูกนำไปอวดโฉมในโครงการใหม่ถึง 7 อย่าง โดยความร่วมมือของคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบด้วย

1.ยอดเสาสีทอง
2.น้ำตกและต้นไม้
3.ล็อบบี้
4.ห้องไลบรารี
5.ห้องไทยเฮอร์ริเทจ สวีต
6.เปลือกอาคารทองเหลือง
7.ห้องอาหารไทยเบญจรงค์


156246

โดยเฉพาะห้องอาหารไทยเบญจรงค์จะเป็นไฮไลต์
เพราะเหมือนยกไปตั้งอยู่ในโรงแรมใหม่ อดีตเป็นห้องอาหารไทยที่มีการแสดงโขนเป็นแห่งแรก มีการใช้เก้าอี้เป็นตั่งให้แขกได้มีประสบการณ์แบบไทยดั้งเดิมเหมือนนั่งพื้น แต่กลัวแขกต่างชาติไม่คุ้นเคย จึงสร้างเป็นตั่งให้ห้อยขา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายความเป็นไทย ทั้งรสชาติและการตกแต่ง


➣ รื้อเสาเอกเก็บงานศิลป์โจทย์ยาก

เมื่อโจทย์ถูกกำหนดให้นำไปเปิดใหม่ในขนาดเท่าเดิม ทุกอย่างจะถูกถอดเก็บเพื่อนำกลับมาประกอบใหม่ ซึ่งจะต้องวัดพื้นที่ให้มีขนาดพอดีกันเด๊ะ ไม่ว่าจะเป็น กำแพง เพดานไม้สักทองแกะลายฉลุ จิตรกรรมฝาผนัง และส่วนที่สำคัญที่สุด คือ เสา ที่มีขนาดต้นละ 5 ตัน เป็นเสาเอกขนาดใหญ่ 2 เสากลางห้อง ที่ต้องขนย้ายออกไปด้วย ความสำคัญอยู่ตรงตัวเสามีการเพนต์ลวดลายจิตรกรรมไทย ผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ของ "ท่านกูฏ" อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ใช้เวลาถึง 3 ปี ในการค้นคว้าหาข้อมูลจากวัดโพธิ์ ทั้งการใช้สี ลวดลาย ก่อนลงมือเพนต์ ซึ่งเป็นผลงานควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ยิ่งนัก


156269 156250 156268

"การรื้อถอนจึงเป็นเรื่องท้าทายทีมงาน การขนย้ายที่ว่ายาก แต่ที่ยากกว่า คือ เก็บรักษาไว้อีก 3ปี ให้อยู่ในสภาพดังเดิม โดยหลังปิดโรงแรม ทีมงานจะเข้าไปถอดแบบ เก็บรายละเอียดทั้งหมด เทียบสี โทนสี ถ่ายภาพเก็บเป็นต้นแบบ 1 ชุด จากนั้นจะใช้น้ำยาสารเคมีเคลือบ เข้าเฝือกด้ามเหล็ก และหุ้มเอาไว้ ป้องกันน้ำจากการรื้ออาคาร เสาเอกจะเป็นส่วนที่รื้อหลังสุด หลังรื้อทุกส่วนของอาคาร โดยใช้เลื่อยวงเดือนตัดเบา ๆ ทำโดยผู้เชี่ยวชาญ แล้วการทำงานยังต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีอยู่จำกัด" ผู้เชี่ยวชาญ อธิบาย

นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ต้องถูกบรรจุไว้ในโครงการใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ยอดเสาสีทอง เหนืออาคารสัญลักษณ์ของโรงแรม ออกแบบโดยสถาปนิกญี่ปุ่น บริษัท Kanko Kikaku Sekkeisha (KKS) โดยมี Yozo Shibata หัวหน้าสถาปนิก ผู้ออกแบบโรงแรมโอกุระที่ญี่ปุ่น เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเมื่อ 50 ปีก่อน ได้แรงบันดาลใจจากพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามฯ


156272

สวนน้ำตก
เปรียบเหมือนโอเอซิสของโรงแรม ที่สงบหนีความวุ่นวาย แขกต่างชาติที่มาพักจะชอบมาก ไม่ได้ยกน้ำตกเดิมไป แต่จะเป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งสวน


156261

ห้องสวีต
เคยให้การต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง นักการเมือง ราชวงศ์ ศิลปินดัง มิสยูนิเวิร์ส ระดับโลกมาแล้ว

ห้องไลบรารี 1918 ซึ่งภายในออกแบบตกแต่งด้วยฉลุลายไม้ ประดับตกแต่งด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ และมีข้าวของเครื่องใช้ของรัชกาลที่ 6 เช่น ผ้าเช็ดพระพักตร์ แนวคิดสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งดุสิตธานีและพระราชทานชื่อให้เมืองจำลองแห่งนี้


156256

ล็อบบี้
เล่นระดับ มีพื้นที่ชั้นลอย เพดานสูง เส้นเฉียง กลีบบัวคว่ำ บัวหงาย ศิลปะการตกแต่ง เหมือนร่ายมนตร์ ผู้เข้ามาเยือนสู่ความโอ่โถงของอาคาร


156248

เปลือกอาคาร
แผงระเบียงโดยรอบอาคาร สิ่งเหล่านี้จะแทรกซึมเข้าไปเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบตกแต่งภายในโครงการใหม่


➣ ซับซ้อน แต่โรงแรมใหม่ต้องออกมาดีที่สุด

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า การดีไซน์โรงแรมใหม่เป็นเรื่องยากและซับซ้อนมาก เพื่อให้โรงแรมใหม่ออกมาดีที่สุด เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะเป็นการรื้อแล้วสร้างใหม่ให้มีจิตวิญญาณในบริบทของลูกค้า พนักงาน วัตถุ ตัวโครงสร้างที่ต้องตั้งใจทำ เราอยากเก็บความเป็นดุสิตเอาไว้ ทำรายละเอียดและคงความเป็นเอกลักษณ์ ยิ่งเห็นคนรักดุสิตมาก เราต้องตอบแทนในสิ่งที่คนรักและให้กำลังใจ


 

[caption id="attachment_374145" align="aligncenter" width="335"] ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)[/caption]

"เราคงทำอย่างฉาบฉวยไม่ได้ โครงการใหม่ต้องมีความเชื่อมโยงมองไปอนาคต ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มองตัวตนต้องผสมผสานให้โรงแรมใหม่ที่มีเป็นเอกลักษณ์ เรายึดของเดิมไม่ได้ ไม่แก้ไขเลยก็ไม่ได้ ต้องมีส่วนผสม ความนำสมัย มีเทคโนโลยี จากญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา เหมือนสมัยที่ท่านผู้หญิงทำเอาไว้ตั้งแต่ต้น เราทำแบบเดียวกัน สิ่งที่เป็นตัวตนก็ต้องเก็บเอาไว้"


156253

เปิด 4 โมเดลธุรกิจใหม่ คีพพนักงาน


 

[caption id="attachment_374120" align="aligncenter" width="503"] "ชนินทธ์ โทณวณิก" และอดีตพนักงานดุสิตธานีฯ "ชนินทธ์ โทณวณิก" และอดีตพนักงานดุสิตธานีฯ[/caption]

ส่วนพนักงาน ถ้าประสงค์จะช่วยงานต่อ ปีที่แล้วเราเปิดโรงแรมใหม่ 6 แห่ง ปีนี้จะเปิดอีก 10 แห่ง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ พนักงานบางส่วนอาจไม่สะดวกในการเดินทาง จึงจำเป็นต้องสร้างงานใหม่ใน 4 รูปแบบ คือ

1.เปิดบ้านดุสิตธานี เป็นห้องอาหารที่เป็นแหล่งศูนย์รวมของอาหารจานเด็ดในแต่ละห้องอาหาร เช่น เทียนดอง เมย์ฟลาวเวอร์ ดุสิตกูร์เมต์ เบญจรงค์ นำมาบริการ โดยตกแต่งเฟอร์นิเจอร์บางส่วนจะทำให้รู้สึกเหมือนกลับมาเป็นดุสิตธานีขนาดย่อม ๆ กลางกรุงอีกครั้งเมื่อลูกค้ากลับมาใช้บริการ จะตั้งอยู่ศาลาแดง เพราะเป็นพื้นที่ที่พนักงานคุ้นเคย

2.จัดเลี้ยงนอกสถานที่ (แคเตอริง) ซึ่งทำมาพักหนึ่งแล้ว โดยรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่แก่หลายหน่วยงาน ซึ่งทีมงานยังอยู่ครบ

3.ดุสิตออนดีมานด์ เป็นงานให้บริการด้านแผนกช่าง แม่น้ำ ให้แก่โรงแรมในเครือที่ต้องการ หรือ โรงแรมอื่น ๆ ที่ต้องการจ้างเอาต์ซอร์ซ ซึ่งพอรู้ว่าเราทำ เขาก็เบาใจและยินดีจ้างงาน ซึ่งตอนนี้ทำให้ 2-3 โรงแรม คู่ขนานกันไปตั้งแต่ดุสิตยังไม่ปิด หลังจากนี้น่าจะทำได้เพิ่มมากขึ้น เพราะความต้องการมีแยะมาก

4.งานเป็นที่ปรึกษา วางแผน ในการบริหารโรงแรมอื่น ๆ ซึ่งยังสามารถใช้ชื่อโรงแรมของตัวเอง แต่เราเข้าไปรับดำเนินการให้ เป็น White Label ทีมงานฟรอนต์ออฟฟิศ วางแผนคอนเซ็ปต์ ทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง เป็นต้น

"4 โมเดลธุรกิจ ทำให้เราสามารถรองรับพนักงานทั้งหมดได้ อาจจะมีบ้างที่กระจายไปตามโรงแรมต่าง ๆ ในเครือข่ายต่างจังหวัด อีกทั้งสายงานธุรกิจใหม่ยังจะช่วยสร้างรายได้และให้พนักงานอยู่กับเรา เมื่อโรงแรมเปิดใหม่ก็กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง" ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานี กล่าว


156279

ส่วนความคืบหน้าโครงการใหม่ จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นใต้ดิน 4 ชั้น ใช้สำหรับจอดรถ และส่วนของศูนย์การค้าที่เชื่อมต่อกับบีทีเอส ตั้งใจทำพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อเสริมกับสวนลุมพินี โพเดียมกลางจะมี 3 ตึก คือ โรงแรม 200 ห้อง ขนาดห้องพักเริ่มที่ 42 หรือ 45 ตารางเมตร ออฟฟิศสูง 49 ชั้น และที่พักอาศัยสูง 69 ชั้น หันหน้าเข้าหาสวนลุมพินี ส่วนด้านหลังจะเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งหมด คือ โฉมหน้าโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ที่จะกลับมาปลุกแลนด์มาร์กย่านนี้ให้คึกคักอีกครั้ง ขณะที่ จิตวิญญาณความผูกพันของดุสิตธานีกับหัวมุมถนนสีลมก็ยังคงอยู่ต่อไป


……………….

คอลัมน์ : ตื้น-ลึก-หนา-บาง โดย เรด ไลอ้อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดโมเดลมิกซ์ยูส ดุสิตธานีมูลค่า 3.67 หมื่นล้าน
"กลุ่มดุสิตธานี" จับมือ 'ศิลปากร' อนุรักษ์เอกลักษณ์ของ "โรงแรมดุสิตธานีฯ" ก้าวสู่โฉมใหม่

บทความน่าสนใจ :
ตื้น-ลึก-หนา-บาง | "ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"
ตื้น-ลึก-หนา-บาง | ใหญ่ฟัดใหญ่ ศึกชิง "ดิวตี้ฟรี" ยกนี้ไม่ธรรมดา


เพิ่มเพื่อน โปรโมทแทรกอีบุ๊ก