TCELS จับมือ มจธ.จัดตั้งศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์

11 มี.ค. 2559 | 08:03 น.
วันนี้(11 มี.ค. 2559) ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ (Automated Tissue Kulture : ATK) กับ รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยมี ดร.สุมล ปวิตรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญ จาก TCELS และ รศ.ดร.ขวัญชนก  พสุวัต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.นเรศ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างดังกล่าว TCELS ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ หรือ Automated Tissue Kulture (ATK) มจธ. ในการพัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยผลักดันและกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยและธุรกิจทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อมขึ้นในประเทศ รวมทั้งจัดทำข้อกำหนด และมาตรฐานตามข้อกำหนดสากล เพื่อควบคุมการผลิตและคุณภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยต่อผู้ป่วยในการรักษาโรคต่างๆ

“ความร่วมมือครั้งนีจะเป็นเพื่อพัฒนา สนับสนุน การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซลล์ด้วยระบบอัตโนมัติที่พัฒนาจากเทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัดและนำไปสู่การบำบัดรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน และผลักดันให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์และการบริการสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งร่วมกันบริหารจัดการ ศูนย์ให้บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการผลิตเซลล์ด้วยระบบอัตโนมัติที่พัฒนาจากเทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัดต่อไปในอนาคต ” ดร.นเรศ กล่าว

ผอ.TCELS กล่าวด้วยว่า ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์นั้นเป็นธุรกิจแห่งอนาคต มีโอกาสเติบโตได้ในตลาดโลก จึงอยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาหารือกันได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็พร้อม ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งสตาร์ทอัพโดยเชื่อว่าธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดและสามารถเป็นฮับของอาเซียนได้

ด้านรศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า มจธ.มีปณิธานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมุ่งมั่นผลิตผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นไปตามปณิธานของมหาวิทยาลัย ทีมีผลิตผลงานวิจัยคุณภาพและได้ความร่วมมือจาก TCELS ที่จะช่วยพัฒนางานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

ส่วนรศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัติ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักโครงการศูนย์ให้บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการคือการใช้เครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติผลิตเซลล์ในระดับอุสาหกรรม เพื่อเสริมการเลี้ยงเซลล์แบบเดิมซึ่งเป็นระบบมือ การนำระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติมาช่วยจะทำให้ต้นทุนการผลิตเซลล์และเนื้อเยื่อต่ำลง อีกทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ตามมาตรฐานสากล ดังนั้นคนไทยจะสามารถเข้าถึงการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูความเสื่อมได้มากขึ้น