ทางออกนอกตำรา : ‘คุมค่าหมอ-ยา’ เลิกหนุนลุงตู่! ‘ทุนใหญ่ ร.พ.เอกชน’ มีฤทธิ์กล้าขู่...

12 ม.ค. 2562 | 19:02 น.
 

ค่าหมอ 7554c27ccbd51454abc65499a48e2512 ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทย ต้องออกมาช่วยกันจับตามองถึงมาตรการในการดูแล “ค่ายา  ค่าหมอ ค่าบริการโรงพยาบาลเอกชน” ที่แพงแสนแพงว่าจะเอาอย่างไร

เนื่องจากมติของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ที่ให้ทบทวนรายการสินค้า 49 รายการ และบริการควบคุม 5 รายการ โดยที่ประชุมเห็นชอบถอดรายการสินค้าออก 4 รายการ คือ นํ้าตาลทราย แบตเตอรี่ เยื่อกระดาษ และเม็ดพลาสติก เนื่องจากสินค้ามีการแข่งขันในตลาดจำนวนมากแล้วจึงถอดออกจากบัญชีควบคุม

ขณะเดียวกันก็มีมติให้เพิ่มสินค้าควบคุมเข้าไปในบัญชีปีนี้ 1 รายการ คือ “ยาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ของสถานพยาบาล” ส่งผลให้ในปี 2562 มีรายการสินค้าควบคุม 46 รายการ และบริการควบคุม 6 รายการ

[caption id="attachment_373992" align="aligncenter" width="503"] สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์[/caption]

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และเป็นการดูแลผู้ประกอบการและเอกชน ที่ประชุม กกร.ที่ดูแลการควบคุมราคา มีมติเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเข้ามาศึกษาและดูแลเรื่องของค่าบริการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม

อนุกรรมการฯ มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สมาคมประกันภัย มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปศึกษาและหามาตรการที่เหมาะสมเข้ามาดูแลอย่างเป็นธรรม

หลังจากนี้ จะนำเสนอผลการประชุมต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 มกราคม 2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติประกาศใช้ต่อไป

การฝ่าด่านหินนำราคายา เวชภัณฑ์ ค่าหมอ ค่าโรงพยาบาลมาเป็นสินค้าควบคุมของ “สนธิรัตน์” ในรอบนี้ถือว่ากล้าหาญชาญชัยเดินหน้าสู้กับกระแสทุนที่เด็ดดวงที่สุด

สนธิรัตน์ ควรได้รับการเชิดชู ได้รับดอกไม้เป็นรางวัลจากประชาชนคนไทยทั่วประเทศ

[caption id="attachment_373991" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีหลายสิบคนพยายามที่จะออกมาตรการมาควบคุมราคายาว เวชภัณฑ์ ค่าหมอ ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน แต่สุดท้าย “ไม่มีใครกล้าทำ” แม้แต่คนเดียว เพราะกระแสทุนมันเชี่ยวกรากจนเกินไป

เหนือกว่านั้นในสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในกรรมการแพทยสภา ล้วนแล้วแต่มีผู้ทรงพลังที่เป็นตัวแทนของเจ้าของกิจการธุรกิจโรงพยาบาลเดินกันอยู่ให้ควั่ก

การดูแลประชาชน ผู้ป่วยที่ไปให้หมอรักษา กับการดูแลเจ้าของกิจการโรงพยาบาลจึงเป็นทางขนานที่ไม่มีทางบรรจบได้สักครั้ง มีแต่ลมปากเท่านั้นที่ถูก “ผาย” ออกมาว่าจะดูแลค่าหมอที่แสนแพง แต่ไม่เคยปรากฏขึ้นจริง กระทั่ง “สนธิรัตน์” รมว.พาณิชย์คนนี้นี่แหละที่ทำจริง...

แต่เส้นทางในการควบคุมราคายาเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ ที่ “สนธิรัตน์” กำลังทำให้เกิดขึ้นจริงในปฐพี มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ค่ายา-7 ค่ายา-2 9 มกราคม 2562 ที่ประชุม กกร.มีมติควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริหารทางการแพทย์

10 มกราคม 2562 มีข้อมูลเล็ดลอดออกมาว่า “ทุนใหญ่” ที่เป็นเจ้าของสถานพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนในเมืองไทย วิ่งล็อบบี้ไปยังบรรดาผู้คนที่รายล้อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ล้มเลิกการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ ค่าหมอ ค่าบริการอื่นๆของโรงพยาบาลเอกชน

ว่ากันว่า มีการพูดคุยเลยเถิดไปถึงการสนับสนุนรัฐบาลนายกฯลุงตู่ และเลยเถิดไปขนาดว่า มีการขู่ว่าถ้าในวันที่มีการบรรจุเรื่องนี้เข้า ครม.และครม.มีมติควบคุมราคายาของโรงพยาบาลเอกชน บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด จะรวมตัวกันไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐ...แต่จะหันไปเลือกพรรคคู่แข่ง

ล็อบบี้ขู่กันตรงๆ แบบนี้ ท่านคิดว่าคนที่วิ่งล็อบบี้จะทุนใหญ่แค่ไหน...และมีใครที่กล้าคุยแบบนี้ได้ แต่นี่คือข้อมูลที่ออกมาจากทำเนียบรัฐบาลว่า “ตัวแทนทุนใหญ่” บอกเช่นนี้จริงๆ

แว่วว่า คนในทำเนียบควันออกหู ... ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยทุกคนต้องออกมาให้กำลังใจกับ “สนธิรัตน์” รมว.พาณิชย์ที่กล้าหาญควบคุมราคายา ค่าหมอ...เค้กก้อนใหญ่ที่สูบจากคนป่วยที่ไร้การควบคุม

การชักธงรบของผู้ประกอบการโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่คนไทยต้องรับรู้ เงี่ยหูฟัง...
ค่ายา-4 ค่ายา-3

ลองไปฟังท่าทีของ น.พ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุมว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ถึงที่สุด คำว่าสินค้าที่ต้องมีการควบคุมที่ว่านั้น หมายถึงว่าต้องมีการเปิดเผยรายการราคาของ ร.พ.เอกชน ซึ่งก็เปิดเผยอยู่แล้ว เพราะตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล กำหนดไว้ เพื่อให้คิดราคาล่วงหน้า ใช้อะไรก็คิดราคาตามที่เขียนล่วงหน้า ถ้าไม่เขียนล่วงหน้าก็คิดเงินไม่ได้ แต่การจะบอกว่าควบคุมไม่ให้ราคาสูงเกินไปนั้น คิดว่าไม่ได้...

เพราะที่ผ่านมาเรื่องค่าแรงหมอ พยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนก็ขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหมวดต้นทุนรายการที่ใช้นั้นอาจจะกระจัดกระจายกัน เพราะฉะนั้นภาพรวมไม่ได้ทำให้ถูกลงหรอก ถูกลงไม่ได้

ที่บอกว่าร.พ.เอกชนที่เห็นว่า มีกำไรหลายพันล้านก็ต้องดูว่าเขาทำงานตั้งเท่าไร ดูคนไข้ตั้งกี่ล้านคน ซึ่งปัจจุบัน ร.พ.เอกชนทั้งหมดดูคนไข้เกือบๆ 60 ล้านคน ถ้ากำไรคนละ 100 บาท ก็เป็นเงิน 6,000 ล้านบาทแล้ว ถามว่า กำไรมากเกินไปหรือไม่...

“ถ้าประเทศไทยจะมีแค่ ร.พ.รัฐก็ได้ เอกชนเป็นกิจการเสรี ถ้าไม่มีเอกชนจะเอาอย่างนั้นหรือไม่ แล้วถ้าไม่มีเอกชน ร.พ.รัฐไหวหรือไม่ ร.พ.เอกชนเป็นทางเลือก ถ้าเราไม่แฮปปี้กับการรักษาที่ ร.พ.รัฐก็ไปเอกชน แต่ถ้าเราไม่มีทางเลือก อย่างเช่น เจ็บป่วยฉุกเฉิน ร.พ.เอกชนก็ช่วยให้ ทั้งที่เอกชนเองก็ขาดทุน ขนาดไม่ใช่วิกฤติสีแดงก็ยังขยับขยายให้” น.พ.พงษ์พัฒน์ กล่าว
ค่ายา-5 ค่ายา-6 ค่ายา-1 เป็นการกล่าวท่ามกลางผลประกอบการหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในงวดไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 มีรายได้รวมกันกว่า 115,656 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 17,054 ล้านบาท โดยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการฯมีรายได้กว่า 60,571 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7,841 ล้านบาท

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่มีกรุงเทพดุสิตเวชการ บริษัท กรุงเทพประกันภัยฯ และ กลุ่มโสภณพนิช ถือหุ้นใหญ่ กวาดรายได้ถึง 13,764 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,179 ล้านบาท

การคุมราคายา ค่าหมอของโรงพยาบาลเอกชน....ของรัฐบาลจึงไม่ง่ายแม้แต่น้อย คนไทยจะยอมจ่ายค่าหมอแพงต่อไปหรือไม่ ถ้าไม่อยากจ่ายต้องช่วยกันติดตาม และออกแรงสนับสนุนรัฐมนตรีพาณิชย์ ครับ

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับ 3435 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3435 ระหว่างวันที่ 13-16 ม.ค.2562
เพิ่มเพื่อน
595959859