"โลจิสติกส์ไทย" หืดจับ! ขาใหญ่กินรวบ ชิงเค้กกว่า 7 แสนล้านบาท

11 ม.ค. 2562 | 23:58 น.
| รายงานพิเศษ : "โลจิสติกส์ไทย" หืดจับ! ขาใหญ่กินรวบ ชิงเค้กกว่า 7 แสนล้านบาท

……………….


... ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยเกิดภาวะระส่ำมานานหลายปีแล้ว อย่างน้อยในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภาพรวมโลจิสติกส์ไทยขึ้น-ลงตามการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ตัวเลขการเติบโตล้อไปตามจีดีพี

ขณะที่ อีกด้านก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันต่อเนื่อง และดูเหมือนจะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงของการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากบริษัทข้ามชาติที่เข้ามามีบทบาทมาก ในขณะที่ บริษัทเอกชนไทยหลายรายก็โดดลงมาแข่งด้วย หลังจากที่เดิมทีให้บริการเฉพาะธุรกิจในเครือ ก็ออกมารับงานทั่วไปมากขึ้น

อุณหภูมิการแข่งขันยิ่งเข้มข้นขึ้น เมื่อหลายประเทศมองเห็นโอกาสจากประเทศไทย โดยเฉพาะการถูกมองว่า ไทยเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ตั้งอยู่ในทำเลสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงถึงการค้าในตลาด CLMV ได้ดีที่สุด อีกทั้งประเทศไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่ทันสมัยมากขึ้น เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศรอบบ้าน รวมถึงการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญที่หลากหลาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ไต่ระดับที่ 12 ของโลก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

จากบทบาทดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทั่วโลกต่างโฟกัสมาที่ประเทศไทย และทำให้โลจิสติกส์สายพันธุ์ไทยต้องออกมาปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อตั้งรับกับการแข่งขัน บางรายก็ถูกต่างชาติกลืนไปแล้ว บางรายก็เกิดการร่วมทุนกัน รายไหนที่มีสายป่านยาวก็ขยายธุรกิจรองรับการแข่งขัน โดยเฉพาะการสร้างคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ แห่ปักหมุดจับจองพื้นที่ในทำเลสำคัญ ใกล้เส้นทางขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และใกล้ศูนย์รวมภาคการผลิต เพื่อสะดวกในการลำเลียงสินค้า หรือ ส่งตรงถึงผู้บริโภคปลายทาง ได้ทันตามเงื่อนเวลาที่กำหนด


8ข้อธุรกิจโลจิสติกส์บูม

ขณะที่ บางรายก็ล้มหายตายจากไปด้วยสาเหตุที่ไม่ยอมปรับตัว หลายบริษัทยังยึดติดกับการเป็นธุรกิจครอบครัว ที่ขณะนี้ คนในวงการโลจิสติกส์ต่างประเมินกันว่า โลจิสติกส์ไทยได้หายไปจากระบบแล้วกว่าครึ่ง หรือราว 7-8 พันรายทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลางที่ทะยอยเลิกกิจการไปในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา

วันนี้ประเมินได้ว่า ในประเทศไทยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์รวมตั้งแต่รายเล็ก ๆ ไปสู่รายใหญ่อีกราว 7,000-10,000 ราย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มโลจิสติกส์ที่เป็นเอสเอ็มอี 80-90% และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับสารพัดปัญหารุมเร้า


ปัจจัยรุมเร้าโลจิสติกส์รายเล็ก

การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ มีการประเมินว่า ขณะนี้มีมูลค่ารวมของตลาดโลจิสติกส์ในประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปีทั้งระบบ และในเค้กก้อนนี้ยังพบอีกว่า สัดส่วน 70% เกิดจากการบริการด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มทุนไทยและบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ และสัดส่วน 30% มาจากกลุ่มโลจิสติกส์รายเล็กรวมกัน ซึ่งยังมีความยากที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์กลุ่มเอสเอ็มอีจะขยับสัดส่วนรายได้ขึ้นมาสูงกว่า 30% ได้ หากไม่มีการปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีและให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจรมากขึ้น

นั่นแปลว่า โอกาสที่ผู้เล่นรายใหญ่จะลงมากินรวบตลาดโลจิสติกส์ก็มีทางเป็นไปได้สูงเช่นกัน!


แนะปรับตัวรับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน

สอดคล้องกับที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยและประธานกรรมการ บริษัทในเครือ วี-เซิร์ฟ (V-SERVE GROUP) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSPs) กล่าวว่า ปัจจุบัน มูลค่าโลจิสติกส์ในประเทศที่มีมากกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปีนั้น มาจากการบริการด้านรถขนส่งสินค้าประเภทรถบรรทุก รถเทรเลอร์ ชิปปิ้ง หรือ ตัวแทนออกของ เฉพาะส่วนนี้จะมีผู้ประกอบการมากกว่า 70% ที่เหลือเป็นให้บริการคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งทางเรือ ตัวแทนขนส่งระหว่างประเทศ หรือ Freight Forwarder (เฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์) รวมถึงการหีบห่อสินค้า


ธนิต55

ซีอีโอ V-SERVE GROUP ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การรุกคืบของทุนข้ามชาติน่าจับตามากกว่าการขยับตัวของบรรดาบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทย เพราะมองว่ายังไม่ใช่มืออาชีพ ดังนั้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยที่ยังเหลืออยู่ทั่วประเทศราว 10,000 ราย ที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและเป็นกลุ่มทุนไทยนั้น ถ้าไม่เร่งปรับตัวเอง ก็ยิ่งตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนับวันพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสานกับธุรกิจที่มีเครือข่าย มีการจัดการที่ดี มีเครื่องมือ และความพร้อมมากกว่า ในขณะที่ โลจิสติกส์ไทยบางรายยังทำในรูปธุรกิจครอบครัว ไม่สามารถทำเรื่องบริหารความเสี่ยงให้ลูกค้าได้

ด้าน นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท อีบีซีไอ จำกัด เปิดเผยว่า สถานะของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์รายเล็ก หรือ ที่อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีข้อกังวลอยู่ 2 ส่วน คือ มีกลุ่มบริษัทโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เป็นของต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย และมีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่เหนือกว่า มีสายป่านยาวกว่า เข้ามามีบทบาทในตลาดโลจิสติกส์มากขึ้น รวมถึงเกิดการขยายตัวของบรรดาบริษัทเอกชนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่หันมาวิ่งรับงานข้างนอกมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทโลจิสติกส์ไทย เช่น กลุ่ม ปตท. เอสซีจี และกลุ่มเครื่องดื่มแบรนด์ดังอย่าง เบียร์สิงห์, เบียร์ช้าง เหล่านี้เป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีระบบการจัดการโลจิสติกส์ของตัวเอง

"บริษัทต่างชาติที่เป็นโลจิสติกส์ที่เกิดจากทุนสัญชาติยุโรป อเมริกา เกาหลี จีน ญี่ปุ่น สามารถเข้าหาลูกค้ารายใหญ่ได้ เพราะมีบริการที่ครบวงจร มีความสามารถในการเสนอราคาค่าบริการที่ถูกกว่า บางรายมีฐานลูกค้าตามเข้ามาด้วย ยิ่งแข่งขันยาก"

ซีอีโออีบีซีไอ ยังฉายภาพให้เห็นอีกว่า ประเภทโลจิสติกส์ที่ให้บริการจะมีทั้งรถขนส่ง รถบรรทุก ตัวแทนขนส่งระหว่างประเทศ บริษัทรับเดินเรื่องพิธีการศุลกากร ตัวแทนออกของ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ราว 70% จะเป็นโลจิสติกส์รายเล็กและขนาดกลาง เมื่อเทียบกับบริษัทโลจิสติกส์โดยรวมในประเทศไทย ถือว่ามีสัดส่วนจำนวนรายที่มาก แต่ผลตอบรับทางรายได้มีสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ที่ได้เปรียบด้านฐานเครือข่ายเชื่อมโยงที่ครบวงจรกว่า


สายัณ55

การค้าออนไลน์หนุนมูลค่าตลาดโต

จากการวิเคราะห์สภาพตลาดโลจิสติกส์ยังพบอีกว่า มูลค่าตลาดโลจิสติกส์จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ธุรกิจการค้าออนไลน์มาแรง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า ปี 2561 มูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทย ปี 2561 มีมูลค่า 3,058,987.04 ล้านบาท ขยายตัว 8.76% จากปี 2560 ที่มีมูลค่า 2,812,592.03 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ธุรกิจการค้าออนไลน์กับบริการโลจิสติกส์ผูกโยงไปในทิศทางเดียวกัน

ดูจากความร้อนแรงในการแข่งขันแล้ว โอกาสที่โลจิสติกส์ไทยที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะลงมาชิงส่วนแบ่งตลาดมูลค่ากว่า 7 แสนล้าน เป็นโจทย์ยากขึ้นไปทุกทีในห้วงเวลานี้!

595959859