'บีทีเอส' ลั่น! โต 30% ใน 5 ปี เร่งให้บริการ 4 สาย - แข่งประมูลทุกเส้นทาง

16 ม.ค. 2562 | 00:55 น.
'บีทีเอส' ประกาศใน 5 ปี เติบโต 30% รับกรุงเทพฯ มุ่งสู่การเป็นมหานครระบบราง ล่าสุด ผู้โดยสารทะลุ 9 แสนคนต่อวัน หากเปิดบริการครบ 4 เส้นทาง รวม 140 กม. คาดว่าผู้โดยสารทะลุ 1.5-2 ล้านคนต่อวัน

ในอนาคตไม่เกิน 1-2 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะพลิกโฉมเป็นมหานครระบบราง จากการเร่งก่อสร้างและเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ มีแผนเติบโตทางธุรกิจไม่ตํ่ากว่า 1 เท่าตัว หรือไม่น้อยกว่า 30% ในแง่ของโครงการและรายได้ทั้งกลุ่ม จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง คือ สายสีเขียวเส้นทาง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ หมอชิต-คูคต ครบทั้งเส้นทาง, สายสีเหลือง, สายสีชมพู และสายสีทอง ตลอดจนการเติบโตในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการโฆษณาบนรถไฟฟ้าและตามสถานียังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี เนื่องจากมีฐานลูกค้าผู้ใช้บัตรโดยสารมากกว่า 10 ล้านใบ


tp12-3435-a

ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการวันละ 7-8 แสนคน โดยเฉพาะวันศุกร์จะพุ่งสูงถึง 9 แสนคน ส่วนรายได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2561 ที่ผ่านมา โตราว 2-3% รับรู้รายได้เฉพาะช่วงสัมปทาน 23 กิโลเมตร ประมาณ 7,000 ล้านบาท ปี 2561 มีผู้โดยสารใช้บริการ 240 ล้านเที่ยว คาดว่า ภายใน 10 ปี ผู้ใช้บริการจะเพิ่มเฉลี่ย 5% ต่อปี

"ภายในเดือน ส.ค. 2562 จะเร่งเปิดให้บริการสายสีเขียวเหนือ จากสถานีหมอชิต-สถานีเซ็นทรัลลาดพร้าว อีกทั้งยังมีแผนเปิดให้บริการต่อเนื่องกันไปจนครบทั้งเส้นทางในปี 2563 เช่นเดียวกับสายสีเหลืองและสายสีชมพู คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 อีกทั้งยังมีสายสีทองเร่งเปิดบริการในปี 2563 รวม 4 เส้นทาง 140 กิโลเมตร เชื่อว่า ผู้โดยสารจะทะลุ 1.5-2 ล้านคนต่อวัน"

ปัจจุบัน บีทีเอสยังเสนอรัฐบาลให้เร่งเชื่อมต่อการเดินทางในหลายจุด เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง พร้อมกับเร่งใช้ระบบตั๋วร่วมครบทั้งระบบภายในปี 2562 นี้ อีกทั้งสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งพัฒนาเส้นทางระบบรองเป็นฟีดเดอร์ให้สามารถใช้เส้นทางอย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้ระบบรถเมล์โดยสารเป็นฟีดเดอร์ป้อนสู่ระบบราง

"พบว่า ความเจริญจะเติบโตไปตามแนวรถไฟฟ้า บีทีเอสจึงมองการพัฒนาให้รองรับได้มากที่สุด พร้อมกับได้ติดตามการร่วมลงทุนจากภาครัฐ ยืนยันว่าจะร่วมประมูลทุกเส้นทาง หากเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้าไปดำเนินการ เช่นเดียวกับการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต ส่วน "การพัฒนาที่ดิน" ได้ไปถือหุ้นในบริษัทลูก 19% เช่นเดียวกับบริษัทโฆษณา ที่ไปถือหุ้นในบริษัทลูกของบีทีเอส 70% ซึ่งปัจจุบัน การขายโฆษณาจะเป็นตัวเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มบีทีเอส"

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,435 ระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว