'เอ็กโก' ลุยธุรกิจแอลเอ็นจี! ไล่ซื้อโรงไฟฟ้าต่างประเทศ

13 ม.ค. 2562 | 00:53 น.
"เอ็กโก กรุ๊ป" เผย เล็งจับมือ กฟผ. และพันธมิตเกาหลีใต้ ลุยธุรกิจค้าแอลเอ็นจีในตลาดภูมิภาค พร้อมเข้าร่วมประมูลไอพีพีโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตก 1.4 พันเมกะวัตต์ ตั้งเป้าปีนี้จะมีกำไรเติบโต 6% จากโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

ทิศทางการดำเนินงานของ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป จากนี้ไปจะไม่เน้นการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในเชิงปริมาณมากนัก หลังจากปี 2561 ที่ผ่านมา ได้ตัดขายสินทรัพย์ที่ไม่มีกำไรออกไป 3 โครงการ ได้แก่ ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดใน "อีสท์ วอเตอร์", บริษัท จีเดค จำกัด และโรงไฟฟ้ามาซินลอค ประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้รับรู้กำไรมากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2562 นี้ เอ็กโกจะเน้นที่การลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีร่วมกับพันธมิตร


LNGG

นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การดำเนินงานในปี 2562 นี้ เอ็กโกได้ตั้งทีมศึกษาการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ โดยศึกษาทุกธุรกิจที่มีโอกาสและความเป็นไปได้ อาทิ ธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ได้หารือกับทางพันธมิตรและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่นกัน ขณะเดียวกัน กลุ่ม SK E&S ซึ่งเป็นพันธมิตรในโรงไฟฟ้าพาจู มีความเชี่ยวชาญธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจี ก็จะร่วมมือกันเพื่อเปิดโอกาสลงทุนในธุรกิจแอลเอ็นจีในภูมิภาคเอเชียต่อไป ขณะเดียวกันยังสนใจธุรกิจการบริหารจัดการไฟฟ้า "สมาร์ทมิเตอร์" โดยบริษัทมีทีมงานที่คอยมองหาโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology)

นอกจากนี้ เอ็กโกยังศึกษาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่า ในปีนี้จะมีความชัดเจนการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ 2 โครงการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิที่เวียดนาม เอ็กโกถือหุ้น 30% คาดว่าจะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของเวียดนาม ที่ต้องเริ่มซีโอดีในปี 2567

ส่วนโอกาสการขยายกำลังการผลิตในประเทศ ดูจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี) ฉบับใหม่ จะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) กว่า 8 พันเมกะวัตต์ โดยเฉพาะโครงการที่มีโอกาสเปิดแข่งขันก่อนเป็นลำดับแรก ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1.4 พันเมกะวัตต์ รองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 และ 2567 บริษัทก็มีที่ดินรองรับการลงทุนดังกล่าวแล้ว หรือหากจะมีการประมูลในพื้นที่อื่น ๆ บริษัทก็มีความพร้อมเช่นกัน

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,435 วันที่ 13-16 มกราคม 2562

 

[caption id="attachment_373991" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]