ปีหน้า! "เศรษฐกิจจีน" แซงสหรัฐฯ ดาวรุ่งเอเชียตบเท้าเข้า Top10

13 ม.ค. 2562 | 00:19 น.
จากรายงานคาดการณ์ขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่เชื่อว่าน่าจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก 10 ประเทศแรก ในระยะ 11 ปีข้างหน้า หรือ ภายในปี ค.ศ. 2030 จัดทำโดย ฝ่ายวิจัยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด พบว่า มีถึง 7 ประเทศ ในอันดับ Top 10 ดังกล่าว ที่ปัจจุบันยังอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนา ที่มีศักยภาพเศรษฐกิจขยายตัวสูง ทั้งในเอเชียและลาตินอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ภายในระยะเวลาดังกล่าวแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งครองที่ 1 อยู่ในปัจจุบันนั้น ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นประเทศคู่พิพาททางการค้าของสหรัฐฯ ที่เพิ่งตกลงคลี่คลายปัญหากันได้ระดับหนึ่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง นั่นก็คือ จีน

รายงานคาดการณ์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดครั้งนี้ เป็นการจัดอันดับขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่วัดจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในระยะยาว โดยใช้ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity : PPP) และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น (Nominal GDP) มาใช้เป็นฐานในการคำนวณและคาดการณ์ โดยรายงานระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวและแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกได้ ตั้งแต่ปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ซึ่งก็คือ ปีหน้า และหลังจากนั้น ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ก็คาดว่า แม้แต่ 'อินเดีย' ก็จะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากจีน โดยสหรัฐฯ คาดว่าจะตกไปเป็นอันดับ 3


TP12-3435-B

เดวิด แมนน์ นักเศรษฐศาสตร์ หัวหน้าทีมผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการคาดหมายตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศต่าง ๆ ในโลก ทำให้เห็นหลักการสำคัญประการหนึ่ง ที่ว่า สัดส่วนจีดีพีของประเทศหนึ่ง ๆ ที่มีต่อจีดีพีรวมของโลกนั้น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสัดส่วนประชากรของประเทศนั้น ๆ ที่มีต่อตัวเลขประชากรรวมของโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่ตัวเลขรายได้ประชากร (GDP per Capita) ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่า ประชากรในประเทศนั้น ๆ มีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร เริ่มขยับเข้ามาใกล้เคียงกันมากขึ้นระหว่างประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนาดาวรุ่งที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว


asiaGDP

เห็นได้ชัดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง จากที่เคยร้อนแรงในระดับ 2 หลัก เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6.5-6.7% ในช่วงเร็ว ๆ นี้ แต่หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ ปรับสมดุลแล้ว จะลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 5% ในราวปี 2030 ซึ่งเป็นปกติของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น ขณะที่ อินเดียคาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างร้อนแรงที่ประมาณ 7.8% ในระยะไม่กี่ปีข้างหน้านี้ (2020)

แนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นได้ท่ามกลางพัฒนาการดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ในรายงานคาดการณ์ครั้งนี้ ยังได้แก่ แนวโน้มที่ว่าการที่หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐ อเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ได้เริ่มแตะเบรก และหยุดใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนปรน (QE) จะเป็นตัวแปรที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศ จำเป็นต้องปรับตัวรับมือด้วยการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจของตัวเองในมิติต่าง ๆ และต้องเร่งเพิ่มประสิทธิผลในการผลิต ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ประเทศกำลังพัฒนารายใดที่รามือ ไม่เร่งกระบวนการปฏิรูป จะไม่สามารถผลักดันตัวเองให้ขยายตัวไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์แนวโน้มที่ว่า ประชากรโลกในกลุ่ม "ชนชั้นกลาง" (The Middle-Class) หรือ ผู้มีรายได้ระดับกลาง จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มคน (ที่แยกตามรายได้) ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาประชากรโลกทั้งหมด ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) และการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางนี้ จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขยายตัวของชุมชนเมืองและการกระจายช่องทางเข้าถึงในการศึกษาของประชากร คลื่นความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยชดเชย หรือ ผ่อนบรรเทาผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ "สังคมสูงวัย" หรือ การขยายตัวของกลุ่มประชากรสูงวัยในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างจีน

รายงาน | หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,435 ระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว