"ค่ายรถ" อัดแคมเปญชนแบงก์! ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์แข่งเดือด-ดาวน์ประกัน 0 บาท

15 ม.ค. 2562 | 05:05 น.
ค่ายรถจัดหนักแคมเปญสู้แบงก์! หวังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า 'ฮอนด้า' ส่งดับเบิลสไมล์ ดาวน์ 0 บาท ประกัน 0 บาท ส่วน 'อีซูซุ' ขยายการรับประกันเพิ่ม 5 ปี ด้าน 'มิตซูบิชิ' ผ่อนนาน 72 เดือน ขณะที่ "นิสสัน ลีสซิ่ง" ปรับโฉมเว็บไซต์ใหม่

ยอดขายรถยนต์ที่เติบโตทะลุ 1 ล้านคันในปีที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้ลูกค้าเกิดการตัดสินใจซื้อรถ ก็คือ แคมเปญทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็น ดาวน์น้อย ผ่อนนาน ฟรีประกันภัย ซึ่งปีที่ผ่านมา ค่ายมิตซูบิชิสร้างความฮือฮาด้วยการมอบข้อเสนอผ่อนนาน 96 เดือน หรือ 8 ปี นอกจากนั้นแล้วยังมีลุ้นของแถมมูลค่าใหญ่ ๆ อย่าง ซื้อรถลุ้นรถอีก 1 คัน เรียกได้ว่า แข่งขันกันอย่างรุนแรง

ขณะที่ ปี 2562 ที่ผ่านพ้นมาเพียงไม่กี่วัน ค่ายรถต่างก็งัดกลยุทธ์การตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคมเปญที่ออกโดย "แคปทีปไฟแนนซ์" หรือที่ดำเนินงานโดยมีบริษัทแม่ผู้ผลิตรถยนต์เป็นผู้สนับสนุน อย่าง โตโยต้า ลีสซิ่ง, อีซูซุ ลิสซิ่ง, ฮอนด้า ลีสซิ่ง ที่มอบข้อเสนอที่เหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นสถาบันการเงิน หรือ กลุ่มนอนแบงก์ ที่เป็นลีสซิ่งรายย่อย


car 3

ยกตัวอย่าง ค่ายฮอนด้าที่มีแคมเปญ "ดับเบิล สไมล์" ดาว์น 0 บาท ประกัน 0 บาท ฮอนด้าช่วยผ่อน 1,500-1 หมื่นบาท เป็นระยะเวลา 12 เดือน เพียงซื้อรถยนต์และทำสัญญาการเช่าซื้อกับ บริษัท ฮอนด้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยแคมเปญสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 2562

ด้าน 'อีซูซุ' ประเดิมต้นปีด้วยการมอบเงื่อนไขสำหรับลูกค้าที่ซื้อรถรุ่น "มิว-เอ็กซ์ ไอโคนิค" ดอกเบี้ย 0.99% ฟรีประกันภัยชั้น 1 และขยายการรับประกันเป็น 5 ปี เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อกับอีซูซุลิสซิ่ง

อีกหนึ่งค่ายที่อัดแคมเปญแรงเมื่อปีที่ผ่านมาอย่าง 'มิตซูบิชิ' ก็เริ่มต้นปีด้วยการมอบข้อเสนอจากมิตซู ลีสซิ่ง "ออกรถปีนี้ ผ่อนอีกทีปีหน้า" ดาวน์เริ่มต้น 10% ผ่อนสูงสุด 72 งวด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 2562

สำหรับ "มิตซู ลีสซิ่ง" ถือเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวในช่วงกลางปี 2560 โดยเกิดจากความร่วมมือของ บริษัท นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ "นิสสัน มอเตอร์" ที่ให้บริการด้านสินเชื่อแก่ลูกค้าขายปลีกและลูกค้ารายใหญ่ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งการจับมือในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนผู้จำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิทั่วประเทศ

"ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของข้อเสนอทางการเงินให้กับผู้จำหน่ายและลูกค้ารถยนต์มิตซูบิชิ" นายโมะริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ด้าน นิสสันก็ให้ความสำคัญกับช่องทางของ "นิสสัน ลีสซิ่ง" โดยปลายเดือน ธ.ค. 2561 ได้เปิดตัวเว็บไซต์รูปแบบใหม่ www.nissanleasing.co.th ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้านิสสันที่ต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ของนิสสัน หรือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

"เว็บไซต์ใหม่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ที่ต้องการได้อย่างมั่นใจ เพียงแค่ปุ่มเดียว ลูกค้าจะสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอด้านราคาและการเงิน อาทิ โปรแกรมคำนวณที่ใช้งานง่าย สามารถส่งข้อเสนออัตโนมัติทางอีเมล์ได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าคำนวณและเปรียบเทียบแผนการผ่อนชำระได้ในเพียงไม่กี่ขั้นตอน โดยระบบจะทำการส่งรายละเอียดทางอีเมล์ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับในวันเวลาที่สะดวกและยังสามารถดาวน์โหลดอีไพรซ์แค็ตตาล็อก เพื่อดูรายละเอียดแผนการผ่อนชำระใหม่ล่าสุดได้อย่างสะดวกสบาย" นายแอนดรูว์ มาเอียร์ ผู้อำนวยการ นิสสัน ลีสซิ่ง กล่าวและว่า

นอกเหนือจากการปรับโฉมเว็บไซต์ใหม่แล้ว "นิสสัน ลีสซิ่ง" ยังเตรียมต่อยอดด้วยการเพิ่มฟังก์ชันต่าง ๆ อาทิ การติดตามสถานะการชำระค่างวดของลูกค้า ยอดค้าง การต่อภาษีรายปี และแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์

ถือเป็นการขยับตัวของแคปทีฟไฟแนนซ์จากค่ายผู้ผลิตรถยนต์ ที่รุกคืบเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากกลุ่มสถาบันการเงิน ที่แต่เดิมจะเป็นกลุ่มหลักในการปล่อยสินเชื่อยานยนต์

"แคปทีฟไฟแนนซ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น เพราะมีความได้เปรียบจากการสนับสนุนทางการเงินของบริษัทแม่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์อยู่แล้ว แถมยังสร้างความได้เปรียบด้านกลยุทธ์ในการทำตลาดด้านต่าง ๆ ร่วมกับดีลเลอร์" แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า


แอดฐานฯ

อนึ่ง มูลค่าธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในไทยมีประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยมีผู้ให้บริการในธุรกิจเช่าซื้อแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารพาณิชย์ ทั้งที่เป็นของไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงธุรกิจในเครือ ยกตัวอย่าง ธนาคารธนชาต, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยในกลุ่มนี้ถือว่า มีสัดส่วนการให้บริการมากที่สุด หรือมากกว่า 65% ขณะที่ "แคปทีฟ ไฟแนนซ์" หรือ ที่ดำเนินงานโดยมีบริษัทแม่ผู้ผลิตรถยนต์เป็นผู้สนับสนุนนั้น มีสัดส่วนประมาณ 30% และที่เหลือจะเป็นของกลุ่มนอนแบงก์ ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายย่อยอย่าง "ลีสซิ่ง"

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ยังคงรุนแรง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยประเมินว่า กลุ่ม "แคปทีฟ ไฟแนนซ์" จะมีการส่งแคมเปญด้านราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่มีการใช้มาโดยตลอด เพื่อกระตุ้นให้ตลาดมีความคึกคักในช่วงที่อยู่ในภาวะซบเซา

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวในกลุ่มของสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์ ก็จะมีการส่งกลยุทธ์ทางการตลาดออกมา เพื่อจะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเอง ยกตัวอย่าง ธนาคารธนชาต ที่เร็ว ๆ นี้ จะมีการแต่งตั้งทีมผู้บริหารใหม่ รวมไปถึงรุกในช่องทางดิจิตอล ทั้งโมบายแอพพลิเคชัน การสมัครสินเชื่อออนไลน์ พร้อมแคมเปญออกมาต่อเนื่อง

เรียกได้ว่า เปิดเกมสู้กันดุเดือด ซึ่งประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคที่มีทางเลือกในการซื้อรถมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์ในปีนี้ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะต้องจับตามอง นั่นก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่อาจจะมีผลต่อต้นทุนการดำเนินงาน เช่นเดียวกับมีผลต่อลูกค้าอีกด้วย

หน้า 28-29  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,435 วันที่  13 - 16 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว