ลองไป 'เลย' แบบไม่เลย ... แล้วคุณจะหลงรักเลย

13 ม.ค. 2562 | 03:40 น.
DSCF3441
'เลย' หนึ่งจังหวัดที่มีการเล่นคำและให้ความหมายเหมือนทางผ่าน แต่ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้แวะเวียนเข้าไปท่องเที่ยวที่จังหวัดนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ไม่ว่าชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "สวยงาม หลงรัก และอยากกลับมาเลยอีกครั้ง"

ความโดดเด่นของจังหวัดแห่งนี้ มีทั้งธรรมชาติที่สวยงาม ความเงียบสงบ มีอาหารที่อร่อย มีประเพณีที่งดงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญการเดินทางก็ไม่ไกลเกินไป หากเริ่มจาก กทม. เพียง 500 กม. นิด ๆ อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราชสลับกับพื้นที่ราบลุ่ม โดยมีแม่นํ้าสายสำคัญอย่างแม่นํ้าโขงและเทือกเขา ทำให้ภูมิอากาศของ จ.เลย นั้น เย็นสบายตลอดทั้งปี หรือ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 26.1 องศาเซลเซียส

"เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด" ภายใต้คำขวัญประจำจังหวัด ได้บอกถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ในขณะนี้กำลังผลิใบเมเปิล หรือจะเป็นการชมทะเลหมอกที่ภูทอกใน อ.เชียงคาน นอกจากพระอาทิตย์ที่ทอแสงผ่านทะเลหมอกในยามเช้า กลิ่นอายความสดชื่น และภาพของนํ้าค้างที่กลิ้งอยู่บนใบไม้ ยอดไม้ ก็ทำให้การพักผ่อนของเราดูผ่อนคลาย เพลินตา และสดชื่นในทุกอณูความรู้สึก รวมทั้งแก่งคุดคู้ที่จะทำให้ทุกคนใกล้ชิดและสัมผัสได้ถึงความสงบอย่างแท้จริงจากแม่นํ้าโขง ตลอดจนชมซากุระเมืองไทยที่ภูลมโล


49807045_388513018566625_4899896465930846208_n

นอกจากภาพของธรรมชาติที่เงียบสงบ อีกหนึ่งนัยที่สร้างเสน่ห์ให้กับจังหวัดนี้ คือ วิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การซ้อมพายเรือของชาวบ้าน การออกหาปลาในยามเช้า การนำเมนูอาหารพื้นเมืองโดยใช้วัตถุดิบที่หามาได้จากแหล่งแม่นํ้าโขงมานำเสนอ รวมทั้งการสืบสานอาหารอย่างจุ่มนัวของยายพัดในเชียงคาน หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ลงสรง หรือ สุกี้โบราณ ตลอดจนการสร้างที่พักแบบโฮมสเตย์ เอาใจแบ็กแพ็กเกอร์ในรูปแบบการท่องเที่ยวที่เรียบง่าย

จ.เลย นี้ยังเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญสู่การท่องเที่ยวใน สปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านนากระเซ็ง อ.ท่าลี่ เพื่อเข้าสู่เมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง ด้วยอาณาเขตที่ติดพรมแดนและเป็นรอยต่อของการเดินทางนี้ ทำให้ จ.เลย ถือเป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีการไหลเททางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ อาทิ ชาวไทเลย ชาวไทดำ ชาวไทพวน เป็นต้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมให้เมืองรองแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการเรียนรู้ คือ ประเพณีที่งดงาม ไม่ว่าจะเป็น งานออกพรรษาที่เชียงคาน งานประเพณีสงกรานต์ไทยลาวที่ อ.ท่าลี่ งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก โดยพระธาตุแห่งนี้ถือเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือและสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุตในสมัยพระมหาจักรพรรดิ รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติชื่อดังจนได้รับการขนานนามและจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในปีที่ผ่านมา คือ "งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน มหกรรมหน้ากากนานาชาติ" ที่ อ.ด่านซ้าย


DSCF3573

และหนึ่งไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง คือ การเดินพักผ่อน ชมวิวริมโขงยามพระอาทิตย์ตก หรือ ปั่นจักรยานเล่นที่ถนนคนเดินเชียงคาน โดยถนนดังกล่าวถือเป็นโมเดลถนนคนเดินลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยไม่ได้มีแต่ของกินสด ๆ จากริมโขง แต่ยังมีสินค้านานาชนิด โดยเฉพาะสินค้า Otop มาจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน

'เลย' หนึ่งเมืองรองที่ไม่ได้เป็นสองรองใคร พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่มีเอกภาพ เหมาะแก่การแพ็กกระเป๋าออกไปเดินทางสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี

หากยังไม่มีแพลนไปไหน ลองเลือกเลยเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางดูสักครั้ง

'เลย' ไปได้แบบไม่เลย และคุณจะหลงรักเลยเหมือนกับเราที่รักเลยอย่างไม่มีเหตุผลเลย ...

หน้า 22-23 ฉบับที่ 3,435 วันที่ 13 - 16 มกราคม พ.ศ. 2562


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว