เอกชนดิ้น "ปรับตัว-พลิกเกม" !! 3 ดีเวลอปเปอร์กลาง-เล็ก ชูไม้เด็ด ลดเสี่ยง

15 ม.ค. 2562 | 04:41 น.
อสังหาฯ แห่ปรับตัว พลิกเกมรับมรสุมปีนี้ 3 ค่าย รายกลาง-เล็ก-ร่วมทุนบริษัทข้ามชาติ โชว์วาทะเด็ด เตือนเพื่อนร่วมอาชีพ อย่าตื่นตระหนกลดราคาซํ้าเติมตลาด ปีที่ผ่านมาพลาดอย่าซํ้ารอย

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวขาเข้าสู่สภาวะชะลอตัว ทำให้หลายบริษัทต้องปรับทัพ ยกเครื่องแผนงานเปิดโครงการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาด ดีมานด์ที่ฝืดจากปัจจัยดอกเบี้ย มาตรการแอลทีวี หนี้ครัวเรือนสูง ยังเป็นความท้าทายสำหรับการขายของดีเวลอปเปอร์ โดยเฉพาะรายนอกตลาดที่สายป่านยังสั้น เงินทุนไม่หนา คลื่นมาอาจเซก่อน ... "ฐานเศรษฐกิจ" รวมวาทะ-กลยุทธ์รับมือมรสุม ผ่าน 3 ดีเวลอปเปอร์ ร่วมต่างชาติ-กลาง-เล็ก

นายวิชัย จุฬาโอฬารกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ดับเบิ้ลยู-ชินวะ จำกัด กล่าวในเวที : กลยุทธ์การรับมืออสังหาฯ ชะลอตัว ปี 2562 งานเปิดตัวหลักสูตรเน็กซ์เรียล ว่า หากมองในสายตาของผู้ประกอบการที่ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ แม้ปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความต้องการคนมีบ้านยังมีอยู่ ฉะนั้น ยังเป็นโอกาสของผู้พัฒนา ซึ่งใน "การปรับตัว" ผู้ประกอบการควรต้องศึกษาถึงความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันอย่างแท้จริง และลดความเสี่ยงด้วยการลดขนาดโครงการให้เล็กลง พัฒนาโปรดักต์ตอบสนองลูกค้า 2 กลุ่มใหญ่ เรียลดีมานด์ หรือ สำหรับนักลงทุน ให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะดีมานด์ในกลุ่มนักลงทุนที่เริ่มชะลอตัว ผู้พัฒนาควรหาช่องทางสนับสนุนในการช่วยปล่อยเช่า หรือ ใน 'ญี่ปุ่น' ที่ผู้พัฒนาจะสร้างโครงการเฉพาะขายเพื่อนักลงทุนยกตึก หรือ รับจ้างออกแบบและพัฒนาโครงการให้เจ้าของที่ดิน

 

[caption id="attachment_373098" align="aligncenter" width="335"] วิชัย จุฬาโอฬารกุล วิชัย จุฬาโอฬารกุล[/caption]

"อย่าสร้างแล้วปล่อยขายตามมีตามเกิดแบบที่ผ่านมา ต้องช่วยให้นักลงทุนปล่อยเช่าง่ายขึ้นด้วย เช่น สร้างแอพบุ๊กกิ้ง ที่สำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ ขออย่างเดียวอย่าตกใจและแห่กันลดราคา ยิ่งซํ้าเติมตลาด"

ด้าน นายต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ตลาดมีหลายปัจจัยรุมเร้า ในการดำเนินธุรกิจก็ต้องเดินต่อ แต่จะเดินอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่เสี่ยง คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิด ซึ่งหากมองย้อนดูปัญหา พบที่ผ่านมาตลาดมีความหลากหลายของโปรดักต์มากเกินไป มีแฟชั่น มีฟังก์ชันที่เสริมเข้ามาเยอะเกินความจำเป็น หลังจากนี้ควรศึกษาว่า ลูกค้าที่มีความต้องการจัดอยู่ในกลุ่มกำลังซื้อใด ตลาดไหนสามารถตอบสนองได้ ยิ่งหากเป็นรายขนาดกลางและเล็ก เรื่องทำเล-โปรดักต์จะมีความสำคัญมาก ในหลักคิดของตนเองนั้น สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ โดยศึกษาจากเจ้าใหญ่ ๆ ในตลาด

 

[caption id="attachment_373096" align="aligncenter" width="503"] ต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์ ต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์[/caption]

"ใครประสบความสำเร็จ ใครพลาด ก็อย่าไปเหยียบซํ้ารอย อะไรที่วางแผนไว้ก่อน ไม่มีตกใจแน่นอน แต่ถ้าทำไปเรื่อย ๆ ไม่ปรับตัว ปีนี้ก็อาจแย่ได้"

ขณะที่ นางสาว กฤศธนฎา สื่อไพศาล บริษัท พีพร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ฯ ฐานะรายใหม่ในตลาด กล่าวเสริมว่า กังวลถึงทิศทางการชะลอตัวของตลาด เพราะที่ผ่านมาดีมานด์เทียมก่อตัวเยอะ ทำให้ราคาที่ดินและราคาขายปรับตัวขึ้นสูงมาก ส่งผลกลุ่มที่เป็นเรียลดีมานด์รับราคาดังกล่าวไม่ไหว และดีดตัวเองไปอยู่ในทำเลที่ไกลออกไป แต่ยังเดินทางได้ตามกำลังซื้อ ฉะนั้น หากพิจารณาเรียลดีมานด์ในตลาดยังมี เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง สร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งและผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือเพื่อเป็นใบเบิกทาง และต้องไม่ลืมควบคุมต้นทุนผลิตด้วย

 

[caption id="attachment_373097" align="aligncenter" width="503"] กฤศธนฎา สื่อไพศาล กฤศธนฎา สื่อไพศาล[/caption]

"สิ่งที่ดีเวลอปเปอร์รายใหม่หรือเล็กต้องโฟกัส ต้องหาโปรดักต์ที่ใช่ ในแพ็กเกจที่ใช่ และโลเกชันที่ดี"

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3435 ระหว่างวันที่ 13 - 16 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว