PTTGC ต่อยอดไบโอคอมเพล็กซ์นครสวรรค์ เฟส2

11 ม.ค. 2562 | 06:19 น.
นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการตัดสินใจลงทุนโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เฟส 2 ที่ จ.นครสรรค์ ต่อยอดจากเฟสแรกที่บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีจีซี ร่วมกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เพื่อต่อยอดจากเฟสแรกที่ผลิตจากไบโอเอทานอล เพื่อเป็นไบโอพลาสติกชนิด PLA คาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 1 แสนตันต่อปี

โดยปัจจุบันการพัฒนาเพาะเชื้อแบคทีเรียน้ำตาลจากน้ำอ้อย จากเดิมที่เลี้ยงด้วยน้ำตาลจากข้าวโพดในการวิจัยระดับปฏิบัติการ หากประสบความสำเร็จ จะสามารถตัดสินใจลงทุนโครงการเฟส 2 ต่อไป ซึ่งตามแผนเดิมคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1-3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ไบโอพลาสติกชนิด PBS ที่ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานที่จ.ระยอง กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อปี แต่ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตอยู่ที่ 4 พันตันต่อปี ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาตลาด โดยโรงงานดังกล่าวสร้างก่อนที่จะมีการรณรงค์เลิกใช้พลาสติก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไบโอพลาสติกที่จะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ล่าสุดบริษัท พีทีทีเอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทสินค้าอาหารชั้นนำของโลก ด้านบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความต้องการใช้ PBS เพิ่มขึ้น ดังนั้นกำลังการผลิตจาก 4 พันตันต่อปี เป็น 2 หมื่นตันต่อปี จึงไม่ใช่เรื่องยาก

“กระแสโลกที่รณรงค์ไม่ใช้พลาสติก ยอมรับว่าบริษัทได้รับผลกระทบบ้าง แต่บริษัทไดเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าพัฒนาเม็ดพลาสติกที่เป็น single-use plastic ที่ใช้แล้วทิ้ง ให้มีความคงทนถาวรมากขึ้น เช่น ท่อ สายไฟ แล้วเส้นใย เปลี่ยนเป็นไบโอพลาสติก”

นายปฏิภาณ กล่าวอีกว่า วันนี้(11 มกราคม 2562) พีทีทีจีซีลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสนับสนุนการผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ในโครงการ Be Smart Be Green การใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทให้การสนับสนุนเม็ดพลาสติก BioPBSTM ในการผลิตแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก ให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลพลาสติกแบบย่อยสลายได้ และความร่วมมือส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงการใช้และการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

[caption id="attachment_372583" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]